TGE ลุยโรงไฟฟ้าขยะชุมชนดันกำลังผลิต 200 MW ปี 75

19 ส.ค. 2566 | 01:59 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2566 | 02:13 น.

TGE เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 3 โครงการ กำลังการผลิต 22 เมกะวัตต์ ลงทุนเกือบ 4 พันล้าน พร้อมจ่อลงนาม PPA อีก 2 โครงการ กำลังผลิต 17.9 เมกะวัตต์ เล็งประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนะกับ อปท.อีก 2 โครงการที่ปราจีนบุรี และอุบลราชธานี ดันเป้าหมายสู่พลังงานสะอาด 200 เมกะวัต์ ปี 2575

นายสืบตระกูล บินเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ (CBDO) บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ที่ชนะการประมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน 5 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 39.9 เมกะวัตต์ ว่า ที่ผ่านมาได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA หรือ Power Purchase Agreement (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว 3 โครงการ รวมทั้งสิ้น 16 เมกะวัตต์

ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า TES-CPN ชุมพร กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้า TES-SKW สระแก้ว กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้า TES-RBR ราชบุรี กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ โดยมีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 4 เมกะวัตต์ 6 เมกะวัตต์ และ 6 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างด้วยวิธี EPC (Engineering, Procurement and Construction) คาดว่าใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 20 เดือน ใช้งบลงทุนรวมกว่า 3,800 ล้านบาท และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์( COD) ครึ่งปีแรกของปี 2568

TGE ลุยโรงไฟฟ้าขยะชุมชนดันกำลังผลิต 200 MW ปี 75

ส่วนอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า TES-TCN สมุทรสาคร กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้า TES-CNT ชัยนาท กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเซ็นสัญญา PPA เร็ว ๆ นี้ หลังจากนั้นจะจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างและคาดว่าจะ COD ปลายปี 2568

นอกจากนี้ บริษัท ยังเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนะกับ อปท.อีก 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES PRI ปราจีนบุรี และโรงไฟฟ้า TES BUN อุบลราชธานี กำลังผลิตโครงการละไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนด้านอื่นๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายมากกว่า 100 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2570 และเพิ่มเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575 เน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน พร้อมต่อยอดธุรกิจไปยังพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวล (Bio Mass) ที่ COD แล้ว 3 โรง ในพื้นที่ภาคใต้ กำลังผลิตติดตั้งรวมเกือบ 30 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยแบบมาตรฐาน (Standard T-VER) แล้ว 2 แห่ง รวม 122,545 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ได้แก่ โรงไฟฟ้า TPG มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 33,964 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในช่วงระยะเวลาคำนวณเครดิตของโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564-31 กรกฎาคม 2565 และโรงไฟฟ้า TBP จำนวน 88,581 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในช่วงระยะเวลาคำนวณเครดิตของโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อร่วมลดภาวะโลกร้อนและช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านรายได้ในอนาคต

นางสาวสุภาพ ฉันทวิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน (CFO) บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE กล่าวว่า ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีรายได้จากการดำเนินงาน 235.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 230.4 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 58.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 55.7 ล้านบาท

ส่งผลให้ภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 470.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 452.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 121.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 107.4 ล้านบาท ตอกยํ้าศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งและเติบโตตามเป้าหมาย

สะท้อนถึงการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ COD แล้วทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) โรงไฟฟ้าท่าฉาง พาวเวอร์ กรีน (TPG) และโรงไฟฟ้าท่าฉางไบโอเพาเวอร์ (TBP) ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีอัตราการเดินเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยในไตรมาส 2/2566 ที่ 95% 94% และ 94% ตามลำดับ โดยตั้งแต่กลางปี 2565 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมของโรงไฟฟ้า TBP จำนวน 6 เมกะวัตต์ (MW) และในปีปัจจุบันยังมีปริมาณการขายไฟฟ้าแก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

อีกทั้ง การปรับขึ้นค่า FiT (Feed-in Tariff) และค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) ตั้งแต่ต้นปีส่งผลให้รายได้การจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงตามราคาตลาดของเชื้อเพลิงจากปาล์ม ทำให้เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้กำไรปรับตัวสูงขึ้น