"OR" ยัน "ค่าการตลาด" ไม่สูง ชี้ตัวเลขรัฐพุ่งสูงเหตุไม่ใช่สูตรเดียวกัน

24 ก.ย. 2566 | 10:00 น.

"OR" ยัน "ค่าการตลาด" ไม่สูง ชี้ตัวเลขรัฐพุ่งสูงเหตุไม่ใช่สูตรเดียวกัน ระบุได้เฉลี่ย 2 บาทต่อลิตรเท่านั้น เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากสูตรที่ สนพ.กำหนด เผยปัญหาจะหมดไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67

ราคาน้ำมันวันนี้ล่าสุดของไทย ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้รัฐบาลเพิ่งมีนโยบายลดราคาดีเซลลง 2 บาท แต่เบนซิน และแก๊สโซฮอล์ยังไม่มีนโยบายในการช่วยเหลือ 

โดยประเด็นเรื่องของค่าการตลาดมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอว่าสูงเกินไปหรือไม่

ต่อกรณีดังกล่าวนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ (OR) ระบุถึงถึงค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและดีเซลที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสูงทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกแพง ว่า ปัจจุบันค่าการตลาดน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลที่โออาร์ได้รับไม่ได้สูงตามที่ถูกวิจารณ์ ไม่ถึง3บาทต่อลิตรตามข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) 

ทั้งนี้ ปัจจุบันโออาร์ได้เฉลี่ย 2 บาทต่อลิตรเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่ค่าการตลาดที่โออาร์ได้รับและสนพ.กำหนดต่างกันมาจากสูตรราคาที่ต่างกัน โดยโออาร์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากสูตรที่สนพ.กำหนด 

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยค่าการตลาดจะกลับมาเท่ากัน เพราะประเทศไทยจะบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร5 ที่คุณภาพน้ำมันจะดีขึ้นเพราะเหลือระดับ 10 พีพีเอ็ม จากปัจจุบันระดับ50 พีพีเอ็ม 

OR ยันค่าการตลาดไม่สูง ชี้ตัวเลขรัฐพุ่งสูงเหตุไม่ใช่สูตรเดียวกัน

นอกจากนี้ สนพ.ยังอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาเข้าพิจารณาต้นทุนค่าการตลาดใหม่คาดจะชัดเจนเดือนพฤศจิกายนนี้

อย่างไรก็ดี ขอยืนยันว่าโออาร์ไม่ได้เอาเปรียบประชาชน ไม่คดโดง การปรับราคาขี้นลงได้หารือกับกรมธุรกิจพลังงานทุกครั้ง อย่างข้อมูล สนพ. ที่แจ้งโครงสร้างราคาน้ำมันรายวัน น้ำมันเบนซินค่าการตลาด 3.20-3.30 บาทต่ลิตร แต่โออารได้จริง 1.90-2.00 บาทต่อลิตร ส่วนต่าง 1.20-1.30 บาทต่อลิตร และเคยสูงสุดถึง 1.60 บาทต่อลิตร 

ขณะที่ดีเซลค่าการตลาดโออาร์และสนพ.ใกล้เคียงกันอยู่ระดับ 1.50 บาทต่อลิตร เพราะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีกำกับใกล้ชิด
 

สำหรับนโยบายเสรีนำเข้าน้ำมันของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยปัจจุบันการนำเข้าเสรีอยู่แล้ว แต่ต้นทุนนำเข้าแพงกว่าราคาในประเทศประมาณ 1 บาทต่อลิตร ยกตัวอย่างเช่น เชลล์มีโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์แต่เลือกซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นไทย ซึ่งหมายความว่าราคาไทยถูกกว่าหรือไม่ หากแพงกว่าเชลล์คงเลือกนำเข้าแล้วเพราะใช้เวลาเพียง 2 วัน

อย่างไรก็ตาม โออาร์เองก็นำเข้าน้ำมันเบนซินหรือแก๊สโซลีนอยู่บ้าง เพราะผลิตไม่เพียงพอในประเทศ ปีนี้นำเข้าแล้ว 4 ลำเรือ ลำละ 50 ล้านลิตร คาดปลายปีจะนำเข้าอีก 1 ลำเพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวที่จะเติบโตตามฤดูกาล