ปรับโครงสร้าง “ก๊าซธรรมชาติ” แก้ปัญหาค่าไฟแพง ได้จริงหรือ?

30 พ.ย. 2566 | 08:08 น.
อัพเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2566 | 08:37 น.

ทันทีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาประมาณการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (FT) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 แนวทาง

เบื้องต้นจะมีการปรับขึ้นค่าเอฟทีราว 4.68-5.95 บาทต่อหน่วย ทำให้หลายภาคส่วนออกมาคัดค้าน เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

สภาผู้บริโภค ออกมาให้ความเห็นว่า ค่าเอฟทีงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ที่ กกพ. กำหนดออกมานั้นยังไม่ถูกต้อง และสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากสมมุติฐานที่นำมาประมาณการล่วงหน้าในช่วงเดือนดังกล่าว มีความคลาดเคลื่อน อาทิ ประมาณการความต้องการไฟฟ้าในช่วงนั้นสูงกว่าความเป็นจริง ประมาณการราคาเนื้อก๊าซสูงกว่าเป็นจริง เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ากว่าความเป็นจริง

รวมถึงราคานํ้ามันดิบดูไบกำหนดไว้ที่ 93.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก็สูงกว่าความเป็นจริง ควรใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 4 เดือน ซึ่งราคาอยู่ที่ 83.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น และต้นทุน LNG นำเข้าที่ใช้อยู่ที่ 16.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู สูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ประเทศไทยนำเข้าในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 12-13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นต้น

สมมุติฐานดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)คำนวณออกมาสูงกว่าความเป็นจริง และขอให้ทางกระทรวงพลังงาน และกกพ. ทบทวนข้อมูลการคิดค่าเอฟทีใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน รวมทั้งให้พิจารณาลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้า รัฐบาลควรใช้หลักการจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูกกว่าก๊าซนำเข้า โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซและปิโตรเคมีนำมาใช้คิดถัวเฉลี่ยรวมด้วย จะทำให้ราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยรวม (Pool Gas) มีราคาถูกลง

ปรับโครงสร้าง “ก๊าซธรรมชาติ” แก้ปัญหาค่าไฟแพง ได้จริงหรือ?

กกพ. ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการพลังงาน มีบทบาทหน้าที่กำหนดอัตราค่าบริการ ในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรม รวมถึงการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการใช้ ซึ่งการพิจารณาการปรับค่าเอฟทีในแต่ละงวดนั้น กกพ.จะตั้งสมมติฐานต่าง ๆ จัดทำล่วงหน้า 45-60 วัน ก่อนค่าเอฟทีจะมีผลบังคับใช้จริง ซึ่งค่าเอฟทีงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ได้เริ่มจัดทำตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 และประมาณการค่าเอฟทีออกมา นำมารับฟังความคิดเห็น 15 วันในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566

ดังนั้น การประมาณการสมมติฐานต่าง ๆ อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ทั้งทางบวกและลบต่อค่าเอฟที ถ้าประมาณการสูงเกินไป ค่าเอฟทีเรียกเก็บเกินไปนั้น จะนำมาคืนในงวดถัดไป แต่ถ้าประมาณการตํ่าเกินไปจะนำมาบวกกับค่าเอฟทีในงวดถัดไปเช่นกัน

สำหรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ หรือ Pool Gas ที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จะประกอบด้วย ก๊าซจากอ่าวไทย 1,541 พันล้านบีทียูต่อวัน เข้าโรงแยกก๊าซทำการแยกก๊าซโพรเพนและบิวเทน และ LPG ประมาณ 308 พันล้านบีทียูต่อวัน ที่เหลือเป็นก๊าซมีเทน 1,233 พันล้านบีทียูต่อวัน นำไปรวมกับก๊าซที่มาจากเมียนมา 500 พันล้านบีทียูต่อวัน และก๊าซ LNG อีก 1,512 พันล้านบีทียูต่อวัน รวมทั้งสิ้นเป็นก๊าซธรรมชาติเข้าโรงไฟฟ้าและผู้ใช้ก๊าซอื่น ๆ จำนวน 3,245 พันล้านบีทียูต่อวัน

ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย 219 บาทต่อล้านบีทียู ราคาก๊าซเมียนมา 371 บาทต่อล้านบีทียู และราคา LNG นำเข้า 513 บาทต่อล้านบีทียู คิดเป็นมูลค่าก๊าซจากอ่าวไทย 40,835 ล้านบาท จากเมียนมา 21,236 ล้านบาท และ LNG นำเข้า 93,854 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมด 155,925 ล้านบาท

หากกำหนดโครงสร้างก๊าซฯใหม่ โดยให้ปริมาณก๊าซที่ใช้ในโรงแยกก๊าซฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20 % ของก๊าซจากอ่าวไทย จะเท่ากับราคา Pool Gas ที่ราคา 387 บาทต่อล้านบีทียู จะทำให้สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มจากโรงแยกก๊าซได้จำนวนหนึ่ง และนำเงินส่วนนี้ไปลดค่าไฟเอฟทีได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างก๊าซใหม่ดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อต้นทุน LPG ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างแน่นอน และจะส่งผลกระทบไปถึงผู้ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงในภาคครัวเรือน รถยนต์และในอุตสาหกรรม เพราะ LPG ที่มาจากโรงแยกจะมีราคาถูกกว่า LPG ที่มาจากโรงกลั่นและนำเข้าและคิดเป็นประมาณเกือบครึ่งของ LPG ที่ใช้ในประเทศ

หากรัฐต้องการตรึงราคา LPG ไม่ให้ราคาสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อฐานะกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 8.13 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในขณะที่ LPG จากโรงแยกซึ่งมีราคาถูกกว่า ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 11.01 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงินเข้ากองทุน 1,844 ล้านบาทต่อเดือน เงินส่วนนี้จะหายไปส่วนหนึ่งจากต้นทุนราคา LPG ที่สูงขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาแก่กองทุนนํ้ามันฯ จากปัจจุบันกองทุนนํ้ามันฯได้ชดเชยก๊าซ LPG จนเป็นหนี้แล้วจำนวน 45,711 ล้านบาท

การจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงทันทีภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยไม่ต้องยืมเงินในอนาคตมาใช้ จะต้องรณรงค์ให้มีการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง ทำให้ความต้องการไฟฟ้าลดลง ไม่ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงเข้ามาผลิตไฟฟ้าดังเช่นปัจจุบัน แต่ถ้าจะให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอย่างยั่งยืนนั้น รัฐบาลจะต้องปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันทั้งระดับ ผลิต ขายส่งและขายปลีก ในขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติให้มีการแข่งขันกัน สอดคล้องกับการปรับกิจการไฟฟ้าอย่างจริงจังด้วย