อากาศร้อน-เศรษฐกิจฟื้นดันความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 67 พุ่ง 3.1%

18 มี.ค. 2567 | 06:13 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2567 | 06:13 น.

อากาศร้อน-เศรษฐกิจฟื้นดันความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 67 พุ่ง 3.1% ขณะที่ภาพรวมปี 66 สนพ. เผยเศรษฐกิจในประเทศดีดันยอดใช้พลังงานปี 66 เพิ่ม 0.8% ทั้งยอดการใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงประมาณการความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 ว่า มีการพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2–3.2% 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 3.1% อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท 

สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 3.1% การใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์จะเพิ่มขึ้น 2.4% การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.3% และประมาณการความต้องการไฟฟ้าปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.1% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีก่อน
 

ด้านสถานการณ์พลังงานในปี 2566 นั้น การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 2,007 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 

อากาศร้อน-เศรษฐกิจฟื้นดันความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 67 พุ่ง 3.1%

ทั้งนี้ การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 0.3% และการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 9.1% จากฐานที่ต่ำกว่าปกติของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าตามความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 

ขณะที่การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าลดลง 6.4% เนื่องจากมีปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ลดลงจากปัญหาภาวะภัยแล้ง 

สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงปี 2566 สรุปได้ดังนี้

 

การใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 0.7% อยู่ที่ระดับ 138.4 ล้านลิตรต่อวัน โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 5.7% เฉลี่ยอยู่ที่ 68.9 ล้านลิตรต่อวัน การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลเพิ่มขึ้น 4% เฉลี่ยอยู่ที่ 31.4 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 49.9% เฉลี่ยอยู่ที่ 13.7 ล้านลิตรต่อวัน ด้านน้ำมันเตา ลดลง 15.8% เฉลี่ยอยู่ที่ 5.4 ล้านลิตรต่อวัน 

การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้น 1.5% อยู่ที่ระดับ 6,542 พันตัน โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 43% มีการใช้เพิ่มขึ้น 1.1% การใช้ภาคขนส่งมีสัดส่วน 14% เพิ่มขึ้น 3.5% ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 11% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.3% ในขณะที่การใช้เองมีสัดส่วน 1% มีการใช้เพิ่มขึ้น 97.9% ส่วนภาคครัวเรือนมีสัดส่วน 31% ลดลง 0.6% 

การใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 6.4% อยู่ที่ระดับ 4,410 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมาจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 12% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและราคาการนำเข้า LNG ระยะสั้น (Spot LNG) ที่ปรับตัวลดลง จึงมีการนำเข้า Spot LNG เพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า สำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น 0.4% ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง 3.3% และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV) ลดลง 2.5%

ส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลง 15% อยู่ที่ 14,450 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 13.3% และการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า IPP ลดลง 31.4% สำหรับการใช้ ลิกไนต์ ลดลง 10.6% อยู่ที่ 3,179 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE)  

การใช้ลิกไนต์ 99% เป็นการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำหรับสัดส่วนการใช้ลิกไนต์ที่เหลือ 1% ถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม 

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ยังไม่มีการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการหมดอายุประทานบัตรของเหมืองลิกไนต์ในประเทศแล้ว 

ด้านการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.4% มีการใช้รวมทั้งสิ้น 203,923 ล้านหน่วย โดยมาจากการใช้ไฟฟ้าในส่วนของสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจเพิ่มขึ้น 8.4% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในโรงแรมที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 22.5% ส่วนการใช้ไฟฟ้าของอพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ ห้างสรรพสินค้า ขายปลีก และขายส่ง เพิ่มขึ้น 15% ,3.7% ,6.9% และ 4% 

สำหรับการใช้ไฟฟ้าในสาขาครัวเรือนเพิ่มขึ้น 7.4% และสาขาอื่นๆ (องค์กรไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว และไฟฟ้าสาธารณะ) เพิ่มขึ้น 12.7% ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าในสาขาอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนการใช้ถึง 42% มีการใช้ไฟฟ้าลดลง 2.6% จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหดตัวในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 โดยความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2566 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 เมกกะวัตต์ (MW) เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน