นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 ว่า มีรายได้รวม 166,887 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 4,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 489,879 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2566
ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลงเล็กน้อยจากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีกำไรสุทธิ 42,660 ล้านบาท หรือประมาณ 1,177 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) อยู่ที่ 28.6 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ 76%
อย่างไรก็ดี มีการนำส่งรายได้ให้กับรัฐกว่า 30,170 ล้านบาท ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 ปตท.สผ. ยังได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ จำนวนกว่า 30,170 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่รัฐได้รับโดยตรงจากการผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
จากผลการดำเนินการดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2567 ที่ 4.50 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 14 สิงหาคม 2567 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 สิงหาคม 2567
นายมนตรี กล่าวอีกว่า บริษัทมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยได้ขยายฐานการลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 10% ในแปลงสัมปทานกาชา หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยูเออี ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้บริษัทได้ทันที และช่วยเสริมประโยชน์และประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการร่วมกับโครงการสำรวจอื่น ๆ
โดยบริษัทมีการลงทุนอยู่แล้วในยูเออี ซึ่งคาดว่าแปลงสัมปทานกาชาจะมีปริมาณการผลิตก๊าซฯประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2573 และมีแผนที่จะทำการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อีกด้วย
ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. ได้จัดทำ EP Digital Platform ซึ่งเป็นศูนย์รวมโครงการนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งที่บริษัทพัฒนาขึ้น และพัฒนาร่วมกับพันธมิตร กว่า 65 โครงการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่งานด้านการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียม การซ่อมบำรุง โลจิสติกส์ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร รวมถึง สร้างประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งปัจจุบันและต่อไปในอนาคต
ปตท.สผ. ยังได้ทำโครงการ Subsurface Data for U เพื่อส่งมอบข้อมูลทางด้านธรณีศาสตร์จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจริงจากการดำเนินงานของบริษัท ให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนในสาขาธรณีศาสตร์และวิศวกรรมปิโตรเลียม เช่น ข้อมูลการสำรวจคลื่นไหวสะเทือน ข้อมูลหลุมเจาะ และข้อมูลด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยให้กับสถาบันการศึกษาและนิสิตนักศึกษา เพื่อส่งเสริมการสร้างบุคลากรด้านธรณีศาสตร์ให้กับประเทศและส่งเสริมอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
สำหรับการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลนั้น ปตท.สผ. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือ PTTEP Ocean Data Platform ขึ้น โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้แท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งเป็นสถานีเก็บข้อมูล เช่น ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ รวมทั้งแสดงผลการศึกษาปริมาณไมโครพลาสติกในทะเล การตรวจติดตามและระบุชนิดสัตว์ทะเลใต้ขาแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อใช้ในการจัดทำแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น สิ้นไตรมาส 2 นี้ ปตท.สผ. ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 3.22 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีฐาน 2563 โดยการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การจัดการหลุมผลิตที่เหมาะสม
รวมถึงการจัดทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น