เปิดพันธกิจ "กฟผ." ยุคการเปลี่ยนผ่านมุ่งสู่พลังงานสะอาด

26 ก.ย. 2567 | 08:31 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2567 | 01:12 น.

เปิดพันธกิจ "กฟผ." ยุคการเปลี่ยนผ่านมุ่งสู่พลังงานสะอาด เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว ทั้งการสร้างต้นแบบโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ และการพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานส่วนเกิน

นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุมธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงานสัมนา  ROAD TO NET ZERO 2024 THE EXTRAORDINARY GREEN ภายใต้หัวข้อ การพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งจัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า บทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมีอยู่ 2 พันธะกิจ ประกอบด้วย 

1.บทบาทในเรื่องของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว หรือพลังงานสะอาดให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งจะมีหลายบาทบาท โดยปัจจุบัน กฟผ. ไม่ได้เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงผู้เดียว จะมีบทบาทจะภาคธุรกิจ ภาคเอกชน มีส่วนในการพัฒนาพลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน 

ในบทบาทดังกล่าวนี้ กฟผ. จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ซึ่งจะเป็นต้นแบบในเรื่องการพัฒนาพลังงานสะอาดบนพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว คือพื้นที่เขื่อนต่างๆที่มีอยู่ 10 เขื่อนทั่วประเทศ โดยเป็นบทบาทของ กฟผ. ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มพลังงานสีเขียว
 

กับอีกส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนที่มีความรู้ มีศักยภาพในเชิงของการลงทุน เข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวอยู่แล้ว โดยจะพบว่าจะมีการลงทุนทั้งจากต่างประเทศ ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น  สปป.ลาวก็มีศีกยภาพในการพัฒนาพลังงานสีเขียวจากพลังงานน้ำ รวมถึงการพัฒนาพลังงานสีเขียวจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งภาคเอกชนจะมีขยายการพัฒนาว่าเป็น IPP ,SPP และ VSPP โดยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว

นอกจากนี้ กฟผ. ยังดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถของระบบส่ง เพราะแหล่งพลังงานผลิตได้อยู่ในพื้นที่ แต่ลูกค้าหรือผู้ใช้ไฟฟ้าจะอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นสายส่งก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาพลังงานสีเขียวไปให้ผู้ใช้พลังงานสีเขียวได้ 

อีกทั้ง ยังมองไปไกลถึงอนาคตว่าหากมีเชื้อเพลิงอะไรที่มาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลิตไฟฟ้าได้เหมือนกัน โดยปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งเน้นไปสู่เชื้อเพลิงที่เรีกยว่าไฮโดรเจน หรือแอมโมเนีย ซึ่งสามารถนำมาทดแทนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติได้ ซึ่ง กฟผ. ได้มีความร่วมมือที่จะศึกษาร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียที่จะพัฒนาในเรื่องการนำเทคโนโลยีการใช้ไฮโดรเจน และแอมโมเนียมาใช้แทนที่ฟอสซิล
 

"นี่เป็นบทบาทแรกที่ กฟผ. ไม่ได้ทำแต่เพียงผู้เดียว แต่ทำร่วมกับภาคเอกชน และยังเตรียมความพร้อมเรื่่องการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน"

2.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบไฟฟ้าให้รองรับกับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนให้ได้ โดยถือเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างมาก เพราะอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพลังงานหมุนเวียนจะผลิตได้ช่วงกลางวัน ซึ่งบางครั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ในช่วงหัวค่ำ หรือกลางคืน เพราะฉะนั้นการเสริมระบบส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัย และยืดหยุ่นที่เราเรียกว่า Grid Modernization จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรื่องนำการพัฒนาพลังงานสะอาดของไทยให้ไปสู่หมุดหมายที่วางไว้ได้

เปิดพันธกิจ "กฟผ." ยุคการเปลี่ยนผ่านมุ่งสู่พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีกลไกลเรื่องของอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับพลังงานสีเขียว โดยปัจจุบันภาคนโยบาย รวมถึงภาคกำกับอยู่ระหว่างการจัดทำอัตราการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) ซึ่งจะเป็นส่วนที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ไฟ หรือผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนธุรกิจของไทยที่ต้องการการันตีว่าใช้พลังงานสีเขียวในอนาคต

อีกทั้งยังมีการจัดการเรื่องความแข็งแกร่งของระบบส่ง เพื่อรองรับกับพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเรื่องของเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการจัดการทางด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น ระบบกักเก็บพลังงาน  การพัฒนาระบบส่งของไทยในอนาคต เพื่อตอบโจทย์พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้นจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดเก็บพลังงาน ที่เรียกว่าการบริหารจัดการพลังงาน  ระบบจัดการพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่ที่ใช้ระบบส่งที่เรียกว่า Grid-Scale BESS ซึ่งจะมีส่วนช่วยสำคัญ

"ในช่วงพลังงานสะอาดที่เป็นพลังงานแสงอาทิตตย์ หรือเป็นลมที่ผลิตเกินความต้องการ  แต่คิดว่าใช้ไม่หมด คงไม่ได้ปล่อยพลังงานดังกล่าวให้สูญหายไป ดังนั้น จึงต้องมีระบบระบบกักเก็บไว้ก่อน หลังจากนั้นในช่วงความต้องการใช้ไฟเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงหัวค่ำ ก็สามารถใช้ระบบกักเก็บนำมาปล่อยไฟฟ้าในระบบสายส่ง  และส่งให้ผู้ใช้ไฟต่อไปได้ในอนาคต"

อย่างไรก็ดี กฟผ.มีโครงการนำร่องที่จังหวัดชัยภูมิ และลพบุรี ซึ่งในอนาคตหากพลังงานสะอาด และพลังานสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นตามแผน PDP ก็จะพบว่าภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะเป็นส่วนที่ช่วยจัดการพลังงานส่วนเกินในระบบได้

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ  (Pumped Storage Hydropower : PSH) โดยปัจจุบันมีที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์  แต่ต่อไปภาคพลังงานปี 2030 -2050 หากไทยหรือทั่วโลกต่างใช้พลังงานสีเขียว การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับก็จะมีข้อดี เพราะสามารถช่วยจัดการพลังงานที่มีขนาดใหญ่ได้ และสามารถถ่ายเทพลังงานเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงพลังงานส่วนเกิน หากมองทางเลือกว่าจำเป็นต้องสร้างสายส่งเพื่อส่งพลังงาน ไปเก็บหรือใช้ที่อื่น  หากใช้วิธีเก็บไว้ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะช่วยลดต้นทุนการลงทุนด้านสสายส่งได้

ในอนาคต กฟผ. ก็มีแผนที่จะทำในพื้นที่ต่างๆในปี 2037 ทั้งที่เขื่อนจุฬาภรณ์ วชิราลงกรณ์ และภาคใต้

นายธวัชชชัย กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญที่ช่วยควบคุมเรื่องการบริหารส่งจ่ายไฟอย่างเพียงพอทุกนาที โดยจะช่วยบริหารจัดการพลังงาน เรียกว่า ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) ซึ่งจะใช้โมเดลเรื่องการผลิตโซลาร์ พลังงานลม และพยากรณ์ 1 วันล่วงหน้า สามารถพยากรณ์ได้ 6 ชั่วโมงล่วงหน้า เพื่อวางแผนเรื่องการผลิตไฟฟ้าในทุกนาทีให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟ

อย่างไรก็ตาม กฟผ. มอง 3 มิติควบคู่ไปด้วยกันทั้งในเรื่องมิติสิ่งแวดล้อมที่ต้องมองเรื่องผลกระทบต่อชุมชขน สังคม รวมถึงเรื่องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์