เช็คสต๊อก "น้ำมันสำรอง" ในประเทศ รับมือสงครามตะวันออกกลาง ได้กี่วัน

08 ต.ค. 2567 | 02:31 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2567 | 03:40 น.

เช็คสต๊อก "น้ำมันสำรอง" ในประเทศ รับมือสงครามตะวันออกกลางได้กี่วัน กระทรวงพลังงานเผยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มุ่งประเมินและเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะสถานการณ์สู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและอิหร่าน 

สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

โดยขณะนี้ในด้านปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีเพียงพอใช้ในประเทศอย่างแน่นอน ปัจจุบัน มีน้ำมันดิบคงเหลือประมาณ 3,365 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ได้ 26 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 2,055 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 16 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 2,414 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 20 วัน รวมจำนวนมีปริมาณน้ำมันคงเหลือและปริมาณสำรองที่สามารถใช้ได้ 62 วัน 
 

นอกจากนี้ ในด้านราคากระทรวงพลังงานจะบริหารดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนมากนัก โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งสถานภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีสภาพคล่องมากขึ้น มีการติดลบลดลง จึงมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก็จะรักษาเสถียรภาพไม่ให้ผันผวนมากนัก

เช็คสต็อก "น้ำมันสำรอง" ในประเทศ รับมือสงครามตะวันออกกลางได้กี่วัน

จากข่าวสงครามในตะวันออกกลางที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และสร้างความกังวลให้นานาประเทศ จนส่งผลให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) วันที่ 30 กันยายน 2567 อยู่ที่ 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 

ขณะที่วันที่ 7 ต.ค. 2567 หลังสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8% ใน 1 สัปดาห์ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในด้านความมั่นคง กระทรวงพลังงานมีปริมาณน้ำมันสำรองสำหรับใช้ภายในประเทศมากกว่า 60 วัน 
 

ส่วนในด้านราคา กระทรวงพลังงานจะติดตามและใช้กลไกที่มีเพื่อให้เกิดผลกระทบด้านราคากับประชาชนให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้มีการซ้อมแผนการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน 

รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อวางมาตรการต่าง ๆ และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน อาทิ การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดหาก๊าซในประเทศให้ได้มากที่สุด  การลดความต้องการใช้ เป็นต้น