"พลังงาน" หนุนประมงสงขลาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มรายได้-ประหยัดค่าไฟ 50%

18 พ.ย. 2567 | 00:19 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 00:57 น.

"พลังงาน" หนุนประมงสงขลาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มรายได้-ประหยัดค่าไฟ 50% มุ่งแก้ปัญหากระแสไฟฟ้าตก และดับ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกปู

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับธนาคารปู จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน ให้กับกลุ่มอนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำ กลุ่มพังสาย ต.กระดังงา อ.สทิงพระ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปูม้าที่มีไข่นอกกระดองที่ถูกจับโดยชาวประมงจะถูกขายเป็นปูเนื้อ ส่วนไข่นอกกระดองจะถูกตัดทิ้งไป ทำให้โอกาสในการขยายพันธุ์ของปูม้าลดลง โดยแม่ปู 1 ตัว สามารถมีไข่ได้ตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านฟอง และมีโอกาสรอดชีวิตไปเป็นตัวเต็มวัยได้ 10% ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าและพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับชุมชน 

ชาวประมงในพื้นที่ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง และริเริ่มจัดทำโครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อวางกลไกการอนุรักษ์สัตว์น้ำโดยรับจำนำปูที่มีไข่นอกกระดอง มาอนุบาลในบ่ออนุบาลและเพาะฟักออกเป็นลูกปู สามารถนำไปปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติได้ เพื่อให้การประมงในพื้นที่เป็นไปอย่างยั่งยืน 
 

ซึ่งในการอนุบาลปูม้า จะต้องสูบน้ำทะเลขึ้นมาใช้ในบ่ออนุบาล และต้องเติมออกซิเจนในบ่อตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักในการผลิตออกซิเจน ที่ผ่านมาพบปัญหากระแสไฟฟ้าตก-ดับบ่อย ส่งผลให้ไม่สามารถเติมออกซิเจนในบ่ออนุบาลได้ตลอดเวลา และทำให้ลูกปูมีอัตราการรอดชีวิตน้อย 

"พลังงาน" หนุนประมงสงขลาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มรายได้-ประหยัดค่าไฟ 50%

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลา ได้เห็นถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ผลิตออกซิเจนในการอนุบาลสัตว์น้ำ ขนาดไม่ต่ำกว่า 2.4 Kw (กิโลวัตต์) และระบบกักเก็บพลังงาน ขนาด 5 KWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง 

ช่วยแก้ปัญหากระแสไฟฟ้าตกหรือดับ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกปูได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกลุ่มชาวประมงและกลุ่มอนุรักษ์สัตว์น้ำในจังหวัดสงขลารวมจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย 

  • ศูนย์เพาะฟักลูกปูกลุ่มปากบางเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา
  • กลุ่มธนาคารปูบ้านพังสาย ต.กระดังงา อ.สทิงพระ 
  • ศูนย์เพาะฟักลูกปูม้าบ้านพังเค็ม ต.วัดสน อ.ระโนด 
  • กลุ่มประมงอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามและพัฒนาชายฝั่ง ม.6 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ 
  • กลุ่มเขตฟาร์มทะเลและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ม.8 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ 
  • กลุ่มธนาคารปูบ้านหัวคุ้ง ม.5 ต.ท่าบอน อ.ระโนด 
  • กลุ่มธนาคารปูม้าชุมชนบ้านท่าเข็น ม.1 ต.คลองแดน อ.ระโนด 
  • กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงบ้านม่วงพุ่ม ม.8 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร 
  • กลุ่มธนาคารปูม้าบ้านชุมพล ต.ชุมพล อ.สทิงพระ

"พลังงาน" หนุนประมงสงขลาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มรายได้-ประหยัดค่าไฟ 50%

นายหมาน จันทร์ลิหมัด หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำ กลุ่มพังสาย กล่าวว่า ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดค่าใช้จ่าย จากปกติเสียค่าไฟฟ้า เดือนละประมาณ 1,800 - 1,900 บาท เหลือเพียงเดือนละประมาณ 800 - 900 บาท ทำให้ต้นทุนในการเพาะฟักลูกปูลดน้อยลง

อีกทั้งยังสามารถลดปัญหาไฟตกไฟดับ นอกจากนั้น ระบบผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งยังสามารถใช้ประโยชน์สำหรับการชาร์จไฟรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และเป็นศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำสำคัญของจังหวัดสงขลา