"กฟผ." แจง "พีระพันธุ์" หยุดผลิตไฟฟ้าแม่เมาะค่าไฟขึ้น1.38 ล้านต่อเดือน

03 ธ.ค. 2567 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 14:38 น.

"กฟผ." แจง "พีระพันธุ์" ชี้หยุดผลิตไฟฟ้าแม่เมาะค่าไฟขึ้น1.38 ล้านต่อเดือน พร้อมแจ้งกระบวนการดำเนินงานและกรอบเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ ของงานจ้างเหมาขุด ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1

นายเทพรัฒน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง แจ้งกระบวนการดำเนินงานและกรอบเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ ของงานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 โดยมีข้อความระบุว่า 

อ้างถึง 1. หนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ นร0403 (กร4)/13639 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ,2. หนังสือที่ กฟผ. S141000/73075 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เรื่อง แจ้งความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง งานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1

ตามอ้างถึง 1 และ 2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เรียนชี้แจงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง งานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดย กฟผ. ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างสายงานรองผู้ว่าการเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามระเบียบ กฟผ. ฉบับที่ 497 ว่าด้วย การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรงและที่แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 12 การอุทธรณ์ ซึ่งได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ ดังนี้
การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลการจัดซื้อซื้อจัดจ้าง
 

เมื่อ กฟผ. ได้รับหนังสืออุทธรณ์ ให้คณะกรรมการพิจารณาผลการจัดซื้อจัดจ้าง พิจารณาและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

กรณีที่ 1 เห็นด้วยกับอุทธรณ์ ให้ทำความเห็นเสนอผู้ว่าการ (ผวก.) ภายใน 7 วันทำการ

กรณีที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของ กฟผ. ที่ ผวก. แต่งตั้ง ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ครบกำหนดการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลการจัดซื้อจัดจ้าง

การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้รับเรื่อง ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันต่วันที่ได้รับเรื่อง หากไม่อาจพิจารณาได้ทันตามกำหนด ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสนอขอขอขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด โดยขออนุมัติต่อรองผู้ว่าการ และแจ้งให้ผวก. ผู้อุทธรณ์ ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างทราบ
 

กรณีที่ 1 อุทธรณ์ฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สรุปเรื่องและความเห็นว่าจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่หรือเริ่มจากขั้นตอนใด เสนอผวก. พิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

กรณีที่ 2 อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้นหรือไม่มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สรุปเรื่องและความเห็น เสนอ ผวก. พิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หาก ผวก.เห็นชอบให้ทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

การวินิจฉัยของ ผวก. ให้เป็นที่สุด

การอุทธรณ์ การจัดซื้อจัดจ้างที่อนุมัติโดยคณะกรรมการ กฟผ. ให้รายงานผลการพิจารณาอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ กฟผ. เพื่อทราบ

ในการประชุมคณะกรรมการ กฟผ. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการพิจารณา กรณีงานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ต้องล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป เนื่องจากคุณภาพถ่านและอัตราสัดส่วนการผสมถ่านในปัจจุบัน เหมืองแม่เมาะจะไม่สามารถส่งถ่านให้เพียงพอกับความต้องการของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 

จนเป็นผลให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะต้องลดกำลังผลิตลง จาก 2,400 MW เหลือ 1,515 MW และต้องผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นที่มีต้นทุนสูงขึ้นเป็นการทดแทน ซึ่งประมาณการว่าอาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของทั้งประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 1.384 ล้านบาทต่อเดือน 

คณะกรรมการ กฟผ. จึงมีความเห็นให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดการพิจารณาอุทธรณ์และการตรวจสอบใดๆ ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้ กฟผ.จะใช้ความพยายามบริหารจัดการการทำงานที่เหมืองแม่เมาะอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว