ส่องผลกระทบ "ญี่ปุ่น" ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ลงมหาสมุทรแปซิฟิก

06 ก.ย. 2566 | 23:05 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 07:25 น.

แม้รัฐบาลญี่ปุ่นและสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) จะกล่าวว่า น้ำที่ปนเปื้อนจะถูกทำให้เจือจางลงอย่างมาก และปล่อยออกมาอย่างช้าๆ ตลอด 30 ปีจากนี้ แต่ก็ยังคงไม่สามารถสร้างความสบายใจให้กับคนทั้งในและนอกประเทศได้

ย้อนรอยเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ทางตะวันออกของเมืองเซนได ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) เมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะเกิดแผ่นดินไหวไปด้วย เนื่องจากอยู่ห่างกันเพียง 97 กิโลเมตร 

แม้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินจะทำการสูบสารหล่อเย็นไปยังรอบๆ แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทันที หลังเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทุกเครื่องหยุดทำงานอัตโนมัติ แต่หลังจากนั้นได้มีคลื่นทะเลสูงกว่า 14 เมตร ซัดถล่มแนวป้องกันและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนน้ำไหลเข้าท่วมโรงงาน ส่งผลให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินก็หยุดทำงานเช่นเดียวกัน จึงนำไปสู่การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี

หลังจากนั้นก็เกิดการหลอมละลายนิวเคลียร์ขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์พุ่งสูง และเกิดการระเบิดของสารเคมีตามมาหลายครั้ง ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรแปซิฟิกในที่สุด จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นราย รวมถึงมีประชาชนกว่า 500,000 คนต้องทิ้งที่อยู่อาศัยเพื่อเอาชีวิตรอด 

แต่สุดท้ายก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการสูบน้ำเข้าไปเพื่อหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่เกิดการหลอมละลาย ทำให้ปัจจุบันมีแทงก์น้ำขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำที่ปนเปื้อนอยู่กว่า 1,000 ถัง 

เหตุผลที่ญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ทางการญี่ปุ่นเผยว่า รัฐบาลได้พยายามจัดการพื้นที่ให้ประชาชนสามารถกลับมาอยู่อาศัยได้มาตลอดหลายปี จึงจำเป็นต้องทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนที่บรรจุไว้กว่า 1,000 ถังลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 30 ปีนับจากนี้ ซึ่งการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดรังสีแล้ว สามารถปล่อยออกได้ แต่กรณีนี้เป็นน้ำที่ปนเปื้อนรังสีอันตรายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 

แต่ทางบริษัทไฟฟ้า Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ของรัฐ หรือเทปโก บริษัทที่ทำการสร้างถังบรรจุน้ำเสียและเป็นผู้ปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวลงสู่มหาสมุทรอธิบายว่า จะมีการใช้ระบบปั๊มและการกรองน้ำขั้นสูงที่เรียกว่า ALPS (เอแอลพีเอส) ซึ่งจะสามารถบำบัดน้ำให้มีระดับกัมมันตรังสีต่ำลงจนมีมาตรฐานที่ปลอดภัย เทปโกกล่าวเพิ่มอีกว่า การเพิ่มจำนวนถังไม่ใช่ทางเลือก แต่เราจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ว่างเพื่อให้สามารถดำเนินกระบวนการต่างๆ ประกอบด้วย การขจัดสิ่งปนเปื้อนในโรงงาน การรื้อโครงสร้าง และการปิดระบบทั้งหมด รวมถึงจะได้รื้อถอนโรงงานได้อย่างปลอดภัย 

กำหนดปล่อยน้ำปนเปื้อนของญี่ปุ่น 

หลังจากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ขององค์การสหประชาชาติที่ผ่านขั้นตอนการประเมินร่วม 2 ปี รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งญี่ปุ่นได้ทำการปล่อยน้ำเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และจะทำการปล่อยน้ำปนเปื้อนทั้งหมดกว่า 1 ล้านตัน โดยใช้เวลา 30 ปี 


การปล่อยน้ำปนเปื้อนปลอดภัยหรือไม่

แม้จะมีความคิดเห็นจากจิม สมิธ (Jim Smith) ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่บอกว่า น้ำที่ญี่ปุ่นปล่อยมีทริเทียมและคาร์บอน-14 อยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ขนาดที่ว่าสามารถนำมาดื่มได้ และได้รับการยืนยันจากเจอร์รี่ โทมัส (Jerry Thomas) นักพยาธิวิทยาทางอณูชีวโมเลกุล เรื่องการปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรว่า วิธีการนำน้ำไปเจือจางด้วยน้ำทะเลอีกที ก่อนทำการปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนั้น เปรียบเสมือนการปล่อยหยดน้ำลงสู่มหาสมุทรทั้งในเชิงปริมาณและระดับกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในน้ำดังกล่าว รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เห็นด้วยว่า น้ำในมหาสมุทรจะช่วยเจือจางน้ำที่ปนเปื้อน และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ 

แต่ก็ยังไม่สามารถรับรองได้ 100% ว่าน้ำปนเปื้อนที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกจะไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตราย โดยทางผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง กรีนพีซ (Green Peace) ได้ออกมาต่อต้าน พร้อมแนะว่ารัฐบาลญี่ปุ่นควรจะกักเก็บน้ำปนเปื้อนไว้ในแทงก์น้ำจนกว่าจะมีเทคโนโลยีการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ก่อน 

เพราะน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีอาจสร้างความเสียหายถึงขั้นทำลายดีเอ็นเอมนุษย์ได้เลย รวมถึงนักวิทยาศาสตร์บางคนก็บอกว่า ญี่ปุ่นควรศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้มากกว่านี้ หากมีผลกระทบจริงๆ จะไม่มีทางจะย้อนกลับมาแก้ไขได้ 


ความเคลื่อนไหวของนานาประเทศ

หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีการประกาศว่าจะทำการปล่อยน้ำเสียที่กักเก็บและทำการบำบัดตลอดระยะเวลาหลายปีแล้ว ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงได้รับการยืนยันจาก IAEA แล้ว แต่หลายๆ ประเทศก็ยังคงเป็นกังวลและไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะกลัวจะสร้างผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร พร้อมตั้งคำถามที่ว่า การปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก และแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยืนยันว่าปลอดภัย แต่มั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น 


จีน

รัฐบาลจีนมีการประกาศสั่งห้ามนำเข้าอาหารญี่ปุ่นทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยสั่งห้ามนำเข้าอาหารและอาหารสัตว์จากฟุกุชิมะและจังหวัดโดยรอบอีก 9 จังหวัด รวมถึงเมืองหลวงอย่างโตเกียวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จังหวัดอื่นๆ ของญี่ปุ่นยังสามารถส่งออกอาหารทะเลมาได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีก่อน


ฮ่องกง และ ไต้หวัน

อีกทั้งฮ่องกงก็มีการสั่งระงับการนำเข้าผัก ผลไม้ นม และผลิตภัณฑ์นมจากจังหวัดฟุกุชิมะ ส่วนผลิตภัณฑ์ประมงและอาหารทะเล รวมถึงไต้หวันเองก็สั่งห้ามนำเข้าสินค้าบางอย่าง อาทิ เห็ด เนื้อสัตว์ป่า จากจังหวัดฟุกุชิมะและอีก 4 จังหวัด


เกาหลีใต้

ในเกาหลีใต้ได้มีการสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะและจังหวัดอื่นๆ อีก 7 จังหวัดรวมถึงระงับการนำเข้าข้าว ถั่วเหลือง ผักบางชนิด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากฟุกุชิมะ พร้อมสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์บางประเภทจากพื้นที่อื่นในญี่ปุ่นอีก 14 แห่ง และจะไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าจนกว่าจะมีการดำเนินการเพื่อผ่อนคลายความกังวลเรื่องน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของประชาชน


สำหรับสหภาพยุโรป (EU)

สำหรับสหภาพยุโรป หรือ อียู ไม่ได้มีการห้ามนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น แต่กำหนดให้นำเข้าผลิตภัณฑ์ได้บางประเภท อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางทะเลบางชนิดจากจังหวัดฟุกุชิมะ แต่ต้องมีใบรับรองการทดสอบกัมมันตรังสีจากรัฐบาลประกอบด้วย


ไทย

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ได้ออกมาเปิดเผยในฐานะที่กรมประมงมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการตรวจสอบการนำเข้าปลาและกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ณ ด่านศุลกากร ตั้งแต่ปี 2559 เอาไว้ว่า กรมประมงได้เพิ่มความเข้มงวดและยกระดับการตรวจติดตามเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากแผนปฏิบัติงานประจำปี มุ่งเน้นการสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากเมืองที่มีความเสี่ยง และได้มีการร่วมมือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการนำเข้าอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่ไม่ปลอดภัย


อาหารทะเลและอาหารต่างๆ ของญี่ปุ่นปลอดภัยหรือไม่

ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิสูจน์และตรวจสอบต่อไปในระยะยาว เพราะยังไม่มีการรับรองที่แน่ชัดได้ว่า หากบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนเข้าไปจะปลอดภัยจริงหรือไม่ ทำให้หลายประเทศอย่างประเทศจีนและเกาหลีใต้เชื่อว่า เกลือสามารถล้างพิษจากรังสีได้ จึงได้มีการกักตุนเกลือเอาไว้มากมาย


เกลือทะเล และ เกลือแกง สามารถล้างพิษจากรังสีได้?

ศาสตราจารย์ วิลเลียม เฉิน ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยทางอาหารในสิงคโปร์ แห่งมหาวิทยาลัยนันยาง (Nanyang Technological) บอกว่า เกลือแกงและเกลือทะเลไม่สามารถช่วยล้างพิษจากรังสีได้ มีเพียงเกลือโพแทสเซียม ไอโอดีน (Potassium iodine) อย่างเดียวเท่านั้นที่สามารถบล็อกรังสีได้ แต่เกลือชนิดนี้จะไปขัดขวางการดูดซึมกัมมันตภาพรังสีไอโอดีน ซึ่งสารที่มีอยู่ในน้ำปนเปื้อนจากญี่ปุ่นคือทริเทียม ไม่ใช่ไอโอดีน

ผู้เชี่ยวชาญเผย หากบริโภคอาหารทะเลและเกลือจากญี่ปุ่นในระดับปกติ ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ทั้งนี้ ยังคงต้องได้รับการเฝ้าระวังความเสี่ยงในระยะยาวต่อไป

ซึ่งล่าสุดทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น เปิดเผยว่า หลังจากปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ได้รับการบำบัดแล้วออกสู่มหาสมุทรเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการสุ่มทดสอบน้ำทะเลใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ผลคือไม่พบกัมมันภาพรังสีใดๆ 


การเยียวยาผู้ส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นได้ตั้งกองทุนกว่า 2 หมื่นล้านเยนเยียวยาผู้ส่งออกหลังจีนแบนอาหารทะเล นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลจะตั้งกองทุนฉุกเฉินวงเงิน 2.07 หมื่นล้านเยน (141 ล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนประกาศระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เนื่องจากจีนนับเป็นตลาดส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 22.5% ของทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงจากฟุกุชิมะแล้ว ยังกระทบต่อภูมิภาคที่ไกลออกไปถึงเกาะฮอกไกโด

ทางรัฐบาลจะใช้เงินจากกองทุนดังกล่าวในการแสวงหาตลาดใหม่ทดแทนจีน รวมทั้งเป็นเงินทุนสำหรับรัฐบาลในการซื้ออาหารทะเลสำหรับการกักเก็บและแช่แข็งชั่วคราว ถือเป็นความช่วยเหลือล่าสุดจากรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประกาศตั้งกองทุนวงเงิน 80,000 ล้านเยนเพื่อชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจ และเยียวยาอุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงสู่ทะเล

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามต่อไป ว่าการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของรัฐบาลญี่ปุ่นและสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) จะส่งผลกระทบต่อการบริโภค การเกษตร การประมง การส่งออก-นำเข้า สุขภาพของผู้คน และในภาคส่วนอื่นๆ อย่างไร