ผลการสำรวจยังนักท่องเที่ยวช่วงปีที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดคล้องกับ Sustainable Travel Report 2022 ที่ระบุว่า นักเดินทางทั่วโลก 61% วางแผนการเดินทางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และอีก 81% ต้องการพักในโรงแรมที่มีการจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน อีกทั้งนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อการเดินทางและกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือช่วยสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน
วิสัยทัศน์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ในปี 2566 นอกจากเน้นส่งเสริมท่องเที่ยวในเชิงมิติเศรษฐกิจแล้ว ททท.ยังให้ความสำคัญกับ “Responsible Tourism” หรือ “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” ที่จะเน้นเสนอขายสินค้าการท่องเที่ยวด้วยแนวคิด Responsible Tourism, BCG และ SGDs ทั้งยังจะทำงานด้วยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในการสนับสนุนการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายการผลักดันการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวที่เป็นนิวแชปเตอร์
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ได้เห็นชอบเห็นชอบแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-70) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ ระดับพื้นที่ และท้องถิ่นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
มีการขับเคลื่อนแผนฯ ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เป็นเรื่องส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) ที่ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างขยะในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลง 2% ในแต่ละปี จำนวนแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล(GSTC) เพิ่มขึ้น 30% ในปี 2570 โดยมีตัวอย่างของโครงการ เช่น โครงการท่องเที่ยวด้วยขนส่งยั่งยืน “Eco-friendly Transport” ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เป็นต้น
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การพลิกฟื้นท่องเที่ยวต้องสร้างอีโค ซิสเต็ม ใหม่ เพื่อยกระดับซัพพลายของประเทศ เพื่อสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ไม่ใช่ฟื้นกลับไปเป็นแบบเก่า ที่เป็น MASS Tourism ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว
ในปี 2566 ททท.จึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สร้างสินค้าท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม เน้นประสบการณ์มากกว่าขายแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป หรือ “Meaningful Travel” ซึ่งเป็นอีกเทรนด์สำคัญที่นักท่องเที่ยวกำลังได้รับความนิยม
ทั้งนี้ ททท. มีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ก้าวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral เพื่อสนับสนุนประเทศก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตามแผน BCG Model พัฒนากิจกรรมต้นแบบ ที่มุ่งเน้นกระบวนการตามแนวคิด “ปรับ -ลด-ชดเชย” เพื่อเปลี่ยนให้กิจกรรมท่องเที่ยวแบบปกติของธุรกิจเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวแบบคาร์บอนตํ่า ที่เริ่มตั้งแต่การปรับและพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนตํ่าสู่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ ลด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชดเชย ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการจัดหา “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งได้มาจากกิจกรรมฟื้นฟู และสร้างแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก
“แนวทางการปรับตัวของธุรกิจไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทำได้ 2 แนวทาง คือ 1.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากต้นทาง หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และระบบที่ประหยัดพลังงานทั้งหมด และ 2.การชดเชย หรือ Carbon Offset ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจซื้อคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการสิ่งแวดล้อมต่างๆ”
AWC ตั้งเป้าสู่ Carbon Neutral
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) กล่าวว่า AWC ตั้งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน เน้น Carbon Neutral หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2572 ดังนั้นในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 2565-2569) การลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามแผน 5 ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาต่อเนื่อง 15 โครงการลงทุน 6 หมื่นล้านบาท และมองโอกาสการเข้าซื้อกิจการอีก 4 หมื่นล้านบาท การลงทุนพัฒนาโครงการทั้งหมดจะเดินตามกลยุทธ์ Carbon Neutral ที่คำนึงถึงมาตรฐานอาคารสีเขียว และได้รับการรับรองมาตรฐาน EDGE
AWC ยังกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นกลไกองค์รวมของการขับเคลื่อนธุรกิจในทุกกระบวนการ ประกอบด้วย Better Planet การพัฒนาระบบพื้นฐานเพื่อลดการใช้พลังงานและการบริหารจัดการทรัพยากรของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ Better People การพัฒนาบุคลากรขององค์กรรวมไปถึงการสร้างโมเดลกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชุมชน และ Better Prosperity การคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจอย่างรอบด้าน ด้วยการเตรียมพื้นฐานที่แข็งแกร่งและการร่วมสร้างคุณค่าในระยะยาวเพื่อตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน