ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดตัว Marketplace หรือตลาดรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER ผ่าน “ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ไปแล้ว
ล่าสุด ส.อ.ท.ได้เริ่มเปิดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER บนแพลตฟอร์ม FTIX ได้เป็นครั้งแรกแล้ว โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (FTI-CCi) ส.อ.ท.จะเปิดให้มีการลงทะเบียนเป็นสมาชิกแพลตฟอร์ม FTIX เพื่อทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้เป็นการทั่วไปในวันที่ 16 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะทำงาน Climate Change ส.อ.ท. กล่าวว่า การดำเนินงานดังกล่าว แสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมและลงมือทำ (Climate Action) ในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่นอกจากจะช่วยโลกและประเทศให้รอดพ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่ต้องรับมือกับแรงกดดันจากทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุน ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีด้วย
ส.อ.ท.จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม FTIX ขี้นมาเพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต ให้เกิดการซื้อขายที่สะดวกมากขึ้นกว่าแบบ OTC–Over The Counter ที่มีอยู่เดิม สามารถเห็นราคาซื้อขายบนตลาดได้เช่นเดียวกับตลาดหุ้น มีการกำกับดูแลแพลตฟอร์มโดยคณะกรรมการกำกับดูแล และมีการบริหารศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยคณะกรรมการร่วม ระหว่าง อบก. กับ ส.อ.ท. ทำให้เกิดความโปร่งใสเชื่อถือได้ เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสมคุ้มค่า สามารถรักษาระดับหรือยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ต่อไป
สำหรับแพลตฟอร์ม FTIX ประกอบด้วย ศูนย์การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับระบบของ อบก. นอกจากนี้จะมี ศูนย์ซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการ RE100 รวมถึง ศูนย์ซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย
“แพลตฟอร์ม FTIX จะมีบริษัทเอกชนประมาณ 12,000 แห่ง ใน 45 ภาคส่วน ที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทและหน่วยงานภาครัฐสามารถซื้อและขายคาร์บอนเครดิตและติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้บน Dashboard ออนไลน์”
ทั้งนี้ อบก.รายงานว่า สำหรับสถิติโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 319 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้หรือกักเก็บได้ 10.79 ล้านตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะที่โครงการที่ได้การรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER แล้ว จำนวน 141 โครงการ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต จำนวน 13.97 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แบ่งตามประเภทโครงการ ได้แก่ โครงการประเภทการพัฒนาพลังงานทดแทน (AE) 8,325,276 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (EE) 2,254,974 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการประเภทพลังงานทดแทนจากการจัดการของเสีย (AE+WM) 2,205,966 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่า และโครงการประเภทป่าไม้ (FOR) 7,890 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
โดยที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้วราว 2,019,099 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว คิดเป็นมูลค่าราว 152.95 ล้านบาท
ส่วนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม-ธันวาคม 65) มีโครการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 9 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้หรือกักเก็บได้ 202,410 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีโครงการที่ได้การรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER แล้ว จำนวน 8 โครงการ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตทั้งสิ้น 460,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการซื้อขายคาร์บอนเครดดิตแล้วทั้งสิ้น 60,552 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 2.18 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในระบบทะเบียนคาร์บอนมีการยกเลิกคาร์บอนเครดิตเพื่อใช้แล้ว 1,205,220 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีปริมาณคาร์บอนเครดิต TVERs คงเหลือในระบบจำนวน 12.77 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า