“คาร์บอนเครดิต” ต้นแบบหยุดความยากจน ขยายพื้นที่ป่า

12 ก.พ. 2566 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2566 | 11:04 น.

ตัวอย่างการส่งเสริม “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต้นแบบการหยุดความยากจน และการขยายพื้นที่ป่าชุมชนของประเทศ

“คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) กำลังเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของโลกที่กำลังหันมาให้ความสำคัญ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเองนั้น นอกจากภาครัฐจะหาทางส่งเสริมแล้ว ยังมีองค์กรอื่น ๆ พยายามสนับสนุนการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดทำโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” เริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี 2564

เริ่มต้นคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาได้ทำโครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนเพื่อความยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และพันธมิตร โดยเปลี่ยนการขยายที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรให้เป็น “การดูแลป่า” โดยต้องเริ่มจากการสร้างแหล่งรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และ “คาร์บอนเครดิต” ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่จะช่วยให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องผืนป่าอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการนี้ มาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ประกอบไปด้วย

ภาครัฐ : อนุญาตให้ใช้ที่ดินสำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (โครงการ REDD+)

ภาคเอกชน : ให้ทุนสนับสนุนโครงการ

ภาคชุมชน : เป็นกำลังสำคัญในการดูแลป่า

โครงการสนับสนุนชุมชนให้ดูแลป่าและวัดการกักเก็บคาร์บอน จะสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิต ผู้บริจาคภาคเอกชนจะสนับสนุนเงินทุนสำหรับกิจกรรมพัฒนาและการจัดการป่าไม้ พร้อมบ่มเพาะความคิดริเริ่มทางธุรกิจในท้องถิ่นแทนการจ่ายเงินเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว

 

การส่งเสริม “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit)

ถอดตัวอย่างคาร์บอนเครดิตชุมชน

ในช่วงเริ่มต้นโครงการในปี 2564 มีตัวอย่างการดำเนินงานที่หมู่บ้านต้นผึ้ง ชุมชนดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีป่าชุมชนคิดเป็นพื้นที่ 981 ไร่ และทางชุมชนได้รับเงินทุนเพื่อเริ่ม โครงการคาร์บอนเครดิต ประมาณ 9.61 ล้านบาท

ชุมชนดอยสะเก็ด นำเงินทุนที่ได้ทำเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนา พร้อมจัดตั้งวิสาหกิจท้องถิ่นผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากใบไม้แห้งที่นับเป็นเชื้อเพลิงไฟป่าได้อย่างดี ธุรกิจนี้สร้างรายได้แก่สมาชิกในชุมชนเฉลี่ย 2.77 แสนบาทต่อปี และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment- SROI) อยู่ที่ 1.26

รวมทั้งตั้งกองทุนดูแลป่า สนับสนุนให้ชุมชนสร้างแนวกันไฟ และจัดเวรยามลาดตระเวนป้องกันไฟป่า ช่วยลดพื้นที่ที่ถูกทำลายจากไฟป่าจากค่าเฉลี่ย  4,638 ไร่ ลดลงเหลือ 2,300 ไร่ ระหว่างปี 2564-2565 ล่าสุดในปี 2565 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ป่าเกิดไฟป่าเพียง 1,225 ไร่ ลดลงมากถึง 17.24% หลังจากทำโครงการมา 2 ปี

 

การส่งเสริม “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) บนพื้นที่ป่าชุมชน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

ตั้งเป้าหมายครอบคลุม 1 ล้านไร่

อย่างไรก็ดีโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ปัจจุบันครอบคลุม 49 ชุมชน มีพื้นที่มากกว่า 50,000 ไร่ ทั่วประเทศ เบื้องต้นมีเป้าหมายจะขยายขอบเขตการดูแลป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยตั้งเป้าครอบคลุมพื้นที่ป่า 1,000,000 ไร่ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนกว่า 1,100 แห่ง และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ประมาณ 300,000-500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
 

แผนดำเนินงานเรื่อง "คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์