ขยะพลาสติก ถือเป็นวาระระดับโลก พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุง ขวด หลอด และอื่นๆ ที่โยนทิ้งหลังจากใช้แล้วแค่ครั้งเดียว มีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้เวลาย่อยสลายยาวนาน ในปี 2562 พบว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวถูกผลิตขึ้นมาคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการผลิตพลาสติกทั้งหมดในโลก หรือเป็นปริมาณมากถึง 130 ล้านตัน ส่วนใหญ่หลังจากถูกใช้แล้ว พลาสติกเหล่านั้นก็ถูกเผา ฝังกลบ บางส่วนสิ้นสุดที่ทะเลและมหาสมุทร เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "โลกร้อน"
ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกหันมาตื่นตัวและลดการใช้พลาสติกอย่างเข้มข้น รวมทั้งสั่งเเบนพลาสติกประเภทนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะพลาสติกที่ถูกทิ้งเป็นขยะทั่วโลก ต่อไปนี้จะพามาสำรวจว่ามีประเทศไทยที่เเบนพลาสติกแบบใช้เเล้วทิ้งกันบ้าง
อินเดีย
รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามใช้ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ห้ามผลิต นำเข้า จัดเก็บ แจกจ่าย จำหน่าย และใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งรวมถึงพลาสติกประเภทโพลีสไตรีนที่มักจะใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของข้าวของเครื่องใช้และอาหาร เป็นการเอาจริงเอาจังขึ้นไปอีกขั้นของรัฐบาลอินเดียนำโดยนายกฯ นเรนทรา โมดี
ขยะพลาสติกเป็นแหล่งมลพิษสำคัญของอินเดีย ซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ละปีอินเดียสร้างขยะพลาสติกราว 4.1 ล้านตัน
ก่อนหน้านี้ประกาศห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งออกมาครั้งแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2562 หลังจากนั้น มีการออกประกาศอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2564 กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย เคยกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2569 -2570 ภาคการผลิตต้องรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก 100 %
อังกฤษ
CNN รายงานว่า ประกาศสั่งห้ามใช้ช้อนส้อม จาน และสิ่งของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป และหันมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแทน หลังจากที่รัฐบาลพยายามที่จะจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยมีเป้าหมายกำจัดขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งได้ทั้งหมดภายในปี 2585
ฮ่องกง
มีแนวคิดที่จะสั่งห้ามการใช้ช้อนส้อมพลาสติกที่ร้านอาหารภายใน 4 ปี หรือปี 2568 ซึ่งครอบคลุมรับผิดชอบต่อการทิ้งช้อนส้อมพลาสติกประมาณ 14.6 พันล้านชิ้นต่อปี หรือประมาณ 1,940 ชิ้น
ปลายปีที่ผ่านมา กรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในฮ่องกงส่งเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมฉบับปรับปรุงให้กับสภานิติบัญญัติ โดยวางแผนว่าฮ่องกงจะต้องเริ่มแบนการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง กำหนดการจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566
จีน
ปี 2563 จีนกำหนดแผนแบนการใช้ถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาร์เก็ตและชอปปิงมอลล์ต่างๆ ในเมืองหลวง รวมถึงการให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ด้วย
ปี 2563 จีนจะลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งใน e-commerce และการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ขณะที่การบริการเดลิเวอรี่จะถูกห้ามไม่ให้ใช้พลาสติกแบบย่อยสลายยากในเมืองใหญ่ๆ ของจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเตรียมแบนการใช้พลาสติกทั่วทั้งประเทศภายในปี 2568
ประเทศไทย
ถ้าพูดถึงปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน จึงเป็นที่มาของโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยปี 2561-2573 คือ ต้องลด เลิกใช้พลาสติก ใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกเลิกใช้พลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก
ต่อมา นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 คาดการณ์ว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3.9 พันล้านบาทต่อปี
ข้อมูล : South China Morning Post