รายงานข่าวจาก กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดเสวนาร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ภายใต้โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance ในงาน Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในการฟื้นฟูและบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทย
นายขยาย ทองหนูนุ้ย ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การปลูกป่าชายเลนที่จังหวัดระนองใน 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการปลูกป่าชายเลนเชื่อมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น เพิ่มศักยภาพชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน และโครงการพัฒนาชุมชนชายฝั่งจังหวัดระนองให้เข้มแข็งรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ปัจจุบัน จังหวัดระนองมีพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์ 171,737 ไร่ และกำลังเสนอให้ป่าชายเลนระนองเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
สำหรับโครงการแรก ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 6 ร่วมกับ OISCA (Thailand) และองค์กรภาคเอกชนและอาสาสมัครปลูกป่าชาวญี่ปุ่นได้จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน ด้วยการคัดเลือกพื้นที่เข้าโครงการ ซึ่งเป็นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมหลังสิ้นสุดสัมปทาน เหมืองแร่เก่า บ่อกุ้งเก่า และพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เสื่อมโทรมขั้นวิกฤต มีอาสาสมัครมาทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อปลูกป่าเชิงคุณภาพ สามารถฟื้นฟูป่าชายเลนกว่า 9,000 ไร่ โครงการนี้มีแคมเปญปลูกป่าชายเลนที่น่าสนใจคือ แคมเปญ “Homerun Mangrove หนึ่งโฮมรันปลูกพันต้นโกงกาง” โดยนับยอดโฮมรันที่นาย Nobuhiko Mutsunaka นักเบสบอลชื่อดังทำได้ใน 1 ปี ซึ่งตอนนั้นมีการปลูกป่าโกงกางกว่า 4,000 ต้น
“การมีส่วนร่วมของชุมชนคือวิธีที่ได้ผลดีและยั่งยืนในการปลูกป่าชายเลน เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องเป็นสะพานเชื่อมกับชุมชน โดยปลูกป่าเชิงคุณภาพบนพื้นฐานวิชาการและข้อมูลที่เป็นจริงว่าพื้นที่ใดปลูกได้ พื้นที่ใดปลูกแล้วจะไม่รอด ยิ่งไปกว่านั้นต้องเปลี่ยนการปลูกป่าให้เป็นการสร้างงานและรายได้ให้คนในชุมชน” นายขยาย กล่าว
ส่วนโครงการพัฒนาชุมชนชายฝั่งจังหวัดระนองให้เข้มแข็งรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นทำให้ชุมชนมีองค์ความรู้ สามารถปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และมีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคง โดยมีเป้าหมาย คือ ชุมชนบ้านเกาะคณฑี ชุมชนบ้านเกาะเหลา ชุมชนบ้านเกาะสินไห และชุมชนบ้านฉาง-ท่าต้นสน
นายชัยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศชายฝั่งและความมั่นคงทางอาหาร ว่า หลังจากทุกภาคส่วนได้ช่วยกันปลูกป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่า ชายเลนเสื่อมโทรมที่เกิดจากการทำบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้ตอนนี้พื้นที่ปากน้ำกระแสมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ประมาณ 600 ไร่ โดยมีคนในชุมชนช่วยกันดูแลอย่างเข้มแข็ง เพราะได้รับประโยชน์จากป่าสมบูรณ์ ทั้งการเป็นแหล่งอาหาร มีสัตว์น้ำมากกว่าเดิม สามารถนำมาเป็นอาหารและขายเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งพักอาศัยของนกอพยพหายาก มีความหลากหลายทางชีวภาพ และดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
“อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าชายเลน คือ การสนับสนุนจากภาคเอกชน ซึ่งชุมชนปากน้ำประแสเองได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทเอกชนหลายแห่งมาโดยตลอด และที่สำคัญคือความต่อเนื่องตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ที่ได้เข้ามาปลูกป่าและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนปากน้ำประแสอย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว รวมทั้ง Dow ยังช่วยสร้างแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น พาสื่อมวลชนมารีวิว และจัดประกวดถ่ายภาพ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก”
นางสาวมณีวรรณ สันหลี กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิอันดามัน กล่าวถึง ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและท้องทะเลอันดามัน ความท้าทายของระบบนิเวศและชุมชน กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนมีส่วนร่วม จังหวัดตรัง ว่า ที่ผ่านมาชุมชนชายฝั่งได้รับผลกระทบจากการที่มีปริมาณสัตว์น้ำลดลง เพราะการทำประมงที่ไม่เหมาะสม คนในชุมชนจึงรวมตัวกันจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา มีการแบ่งประเภทป่าชายเลนเป็นประเภทต่าง ๆ แบ่งพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ใช้สอย และเพื่อใช้กันคลื่นลม
ในจังหวัดตรัง มีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ 4 หมู่บ้าน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนและพะยูน ห้ามตัดไม้โกงกาง และมีการอนุรักษ์พื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังมีการประชุมเพื่อติดตามเฝ้าระวังปัญหาในพื้นที่ชายฝั่งด้วย มีการข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินการเหล่านี้ทำให้จำนวนพะยูนและพื้นที่หญ้าทะเลในจังหวัดตรังเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำราบ ช่วยสร้างงาน และกระจายรายได้ให้คนในชุมชน