พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะแก้ปัญหา ฝุ่น PM2.5 ได้อย่างไร

14 มี.ค. 2566 | 05:03 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2566 | 05:56 น.

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ไขข้อสงสัย พ.ร.บ.อากาศสะอาด หรือ กฎหมายอากาศสะอาด จะแก้ปัญหา ฝุ่น PM2.5 ได้อย่างไร

ที่ผ่านมาหลายคนคงได้ยินคำว่า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด หรือ กฎหมายอากาศสะอาด ผลักดันโดย เครือข่ายอากาศสะอาด เป้าหมายให้ประชาชนไทย ได้มีอากาศที่ปลอดภัยต่อชีวิต และ สุขภาพ ถือเป็นสิทธิเบื้องต้นที่ประชาชนควรจะได้รับ 

ล่าสุด ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า กฎหมายอากาศสะอาด คือการ "ประกาศสงครามกับ ฝุ่นพิษ PM2.5" ได้ผลคือ

1. การให้ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิรับรู้ข้อมูล และอันตรายของมลพิษทางอากาศ อย่างเท่าเทียม "รัฐรู้เท่าไหร่ ประชาชนต้องรู้เท่านั้น"  ต้องแสดงปริมาณฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง เพื่อการปกป้องสุขภาพ และเพื่อการควบคุมฝุ่น

ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ ขอประเมินคุณภาพอากาศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน

2. "กฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act" จะมาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยยึดหลักมาตรฐานสากล

กฎหมายอากาศสะอาด จะกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศ ตามหลักสุขภาพสากล

กฏหมายอากาศสะอาดจะเน้นการกระจายอำนาจในการควบคุม ประเมิน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ

กฏหมายอากาศสะอาดจะใช้มาตรการ "ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม" กับการปลอดมลพิษอย่างไร้ความรับผิดชอบของบุคคลและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการรักษา เยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับกระทบและจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีและโบนัสแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ

กฏหมายอากาศสะอาดจะส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด

3. ให้กำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone” หรือ “B-LEZ” (บีเลส) นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร

แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง

เพราะเขตกรุงเทพชั้นใน 16 เขต มีสถานศึกษามากกว่า 300 โรงเรียน และสถานพยาบาลมากกว่า 40 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นอย่างรุนแรง ด้วยการควบคุมรถขนส่งและรถสาธารณะที่ปล่อยฝุ่นเกินมาตรฐาน รวมทั้งการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างจริงจังในพื้นที่ เพื่อเป็น "พื้นที่ต้นแบบ" ในการแก้ปัญหามลพิษ และในต่างประเทศที่เคยประสบวิกฤตฝุ่นพิษ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ใช้ กฏหมายอากาศสะอาด เป็นเครื่องมือที่ได้ผลที่สุด ในการต่อสู้กับมลพิษ