โดยบริษัทเปิดดำเนินงานมาแล้ว 2 ปี ทางซัน-อัพ รีไซคลิง ด้วยการลงทุนราว 300 ล้านบาท ทางซัน-อัพ รีไซคลิงยืนยันว่าการรีไซเคิลสารโซลเว้นท์ดังกล่าว สามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนประเทศไทยบรรลุุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065
นายสยามณัฐ พนัสสรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน-อัพ รีไซคลิง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เล็งเห็นถึงความสำคัญการนำสารตัวทำละลาย หรือสารโซลเว้นท์ ที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพดีในการรีไซเคิลโซลเว้นท์ที่ความบริสุทธิ์สูง และประเทศไทยมีการนำกลับมาใช้ใหม่ในอัตราที่ตํ่ามาก ประกอบกับพบว่า สารโซลเว้นท์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว บางส่วนมีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้องและพบมีการลักลอบทิ้งในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งเป็นการสอดรับกับกระแสโลก และร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่จะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปีค.ศ.2065 จึงได้จัดตั้งบริษัทประกอบกิจการรับรีไซเคิล ตัวทำละลายอินทรีย์ที่ใช้แล้ว (waste organic solvent) จากโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมา โดยใช้เทคโนโลยีหอกลั่นลำดับส่วน เป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถรีไซเคิลโซลเว้นท์ ได้ความบริสุทธิ์สูงเกินกว่า 99% และมีอัตราการนำกลับมาใช้มาใหม่ (recovery rate) สูงถึง 80-95% ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระบบปิดทั้งหมด ที่นำ automation มาใช้ควบคุม จึงไม่ปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"ตัวทำละลายที่ใช้แล้ว จะถูกกำจัดโดยการเผาในเตาเผาขยะ มีส่วนน้อยที่ผสมทำเชื้อเพลิงทดแทนนํ้ามันเตา และส่วนน้อยมากนำมากลั่นเพื่อรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ความท้าทายของเรื่องนี้คือโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ยังไม่ทราบว่าขยะพวกนี้ เอากลับมากลั่นใช้ใหม่ได้ เพื่อลดต้นทุนและช่วยสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การเก็บรวบรวม การขนย้ายโซลเว้นท์ ซึ่งเป็นของเหลวยุ่งยากกว่าขยะที่เป็นของแข็ง การรีไซเคิลคนส่วนใหญ่จึงไปนึกถึงแต่พลาสติก แต่อย่าลืมว่ายังมีโซลเว้นท์ ซึ่งมีศักยภาพในการรีไซเคิลและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศได้อีกมาก"
นายสยามณัฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงงานรีไซเคิลของบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 6,400 ตันต่อปี และในปี 2566 นี้จะใช้เงินลงทุนอีกราว 60 ล้านบาท ขยายโรงงานและกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 8,100 ตันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการคลี่คลายของสงครามการค้า โดยเฉพาะลูกค้าหลักในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้ เป็นต้นไป
รวมทั้งเครื่องจักรใหม่จะสามารถรองรับลูกค้าที่มีโซลเว้นท์ปริมาณไม่สูงมาก (4-40 ตันต่อเดือน) และกลุ่มลูกค้าโรงพิมพ์มารีไซเคิลได้ บริษัทจึงตั้งเป้าหมายการรีไซเคิลปี 2566 นี้จะอยู่ที่ 6,800 ตันต่อปี และคาดว่าจะมีรายได้ส่วนเพิ่มมาจากกลุ่มนี้ เริ่มรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2566 นี้ บริษัทเติบโตขึ้นราว 40% จากปี 2565
ทั้งนี้กว่า 1 ปี ที่ผ่านมา บริษัทฯได้รีไซเคิลของเสียโซลเว้นท์ไปแล้วทั้งสิ้น 6,855.41 ลูกบาศก์เมตร หรือราว 5,642 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการการเผาในเตาเผาแล้ว การรีไซเคิลดังกล่าว สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 77% คิดเป็นปริมาณ 12,750 ตัน เพราะทุก 1 ตันโซลเว้นท์ที่รีไซเคิลได้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.66 ตัน แต่ถ้าเป็นการเผาในเตาเผาขยะจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2.92 ตัน
นอกจากนี้ การรีไซเคิลโซลเว้นท์ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ยังช่วยประหยัดต้นทุนได้ประมาณ 30-40% เมื่อเทียบกับการซื้อโซลเว้นท์ใหม่ จึงทำให้ลูกค้าที่ส่งโซลเว้นท์มาบำบัด ได้ใช้โซลเว้นท์รีไซเคิลที่มีความบริสุทธิ์สูงเกินกว่า 99% หรือเทียบเท่ากับของใหม่กลับไปใช้งานในราคาที่ถูกลง
“บริษัทฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นโรงงานรีไซเคิลที่สะอาดที่สุดในประเทศ และเป็นโรงงานต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้บริษัทฯยังมีส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ที่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ต้องใช้โซลเว้นท์ที่มีจุดเดือดสูงมากเป็นองค์ประกอบด้วย หากในอนาคตประเทศมีการใช้อีวีมากขึ้นและต้องกำจัดซากแบตเตอรี่ เทคโนโลยีที่บริษัทมีอยู่สามารถที่จะรีไซเคิลนำโซลเว้นท์ในแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย จากการดำเนินงาน ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการหารือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อขอขึ้นทะเบียนรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER เพื่อนำไปสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตต่อไป”