ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันฯ จะดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาวัสดุใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาหรือคิดค้นเส้นด้ายที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่เส้นด้ายดังกล่าวเหล่านี้สามารถนำไปใช้งานถักทอได้เหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม เพื่อให้ดีไซเนอร์และผู้ผลิตได้นำวัสดุใหม่เหล่านี้ไปใช้
สำหรับการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องของราคา ซึ่งต่างชาติมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าจากไทย รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยในเรื่องของตัวสินค้าอยู่แล้ว การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะสนับสนุนภาพลักษณ์เรื่อง BCG ให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น และยังจะได้รับการสนับสนุนจากตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน
"สถาบันฯ มีแนวทางนำเสนอโปรเจกต์ให้ภาครัฐได้พิจารณาเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการ กำหนดแนวคิดการทำการตลาดด้วยการนำ Soft Power มาใช้ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ ที่จะแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า ผู้ประกอบการมีความใส่ใจในทุกวัสดุที่นำมาใช้งานและทุกขั้นตอนของการผลิต รวมถึงแนวคิดการส่งเสริมชุมชนในการส่งเสริมภูมิปัญญา ที่จะนำมาพัฒนาและต่อยอดให้เข้ากับตลาดของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อม"
อย่างไรก็ดี มองว่าเพื่อให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น ผู้ประกอบการควรปรับรูปแบบการผลิตและวัสดุที่ใช้ในการผลิต โดยอิงเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นเทรนด์โลก เพื่อให้สร้างเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ แทนการแข่งขันด้านราคา เพราะปัจจุบันกระแสรักษ์โลกกำลังเป็นเทรนด์นิยมและผู้บริโภคให้ความใส่ใจไปถึงที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในต่างประเทศ ผู้ผลิตเครื่องจักร สารเคมี วัสดุสิ่งทอ ได้มีการเปลี่ยนแปลง (transform) ไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะความตระหนักในเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจากเทรนด์รักษ์โลกและถือเป็นการขับเคลื่อน (movement) ครั้งใหญ่ของโลก คือการมีฉลากที่ตัวสินค้า บ่งบอกชัดเจนถึงที่มาของวัสดุต่าง ๆ ที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นเหมือนการเล่าเรื่องที่มาของเสื้อผ้า ว่าส่วนผสมหรือกระบวนการที่ผลิตออกมามีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร จากความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวทำให้ตอนนี้เกมของวงการสิ่งทอเปลี่ยนไป ไม่ได้แข่งกันที่ราคาอีกต่อไป โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ที่ต้องการให้แบรนด์มีความชัดเจนเรื่องสิ่งแวดล้อม จะหันมาเน้นในรายละเอียดของวัสดุที่นำมาผลิต ตลอดจนกระบวนการผลิต ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังอยู่ในกับดักของเรื่องราคาหรือเรื่อง OEM หากปรับเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดใหม่ จะทำให้มีโอกาสในตลาดโลกได้มากขึ้น”
ด้านภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยในปีนี้ พบว่า หลังจากอุตสาหกรรมสิ่งทอตกลงไปประมาณ 20% ช่วงสถานการณ์โควิด และสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง อัตราการเติบโตก็ยังไม่เท่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาด ซึ่งช่วงตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ยังมีอัตราการหดตัวอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยที่เดือนละประมาณ 10% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และปัญหาเรื่องของโอเวอร์ซัพพลายในช่วงสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาด ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากไม่ให้ความสนใจจับจ่ายเสื้อผ้าใหม่เหมือนกับในอดีต
ส่วนสถานการณ์ตลาดในประเทศนั้นจะมีความแตกต่างจากตลาดส่งออกที่ต้องการสินค้าคุณภาพมากกว่า โดยตลาดในประเทศหากเป็นตลาดบนยังคงมีอัตราการเติบโตได้อยู่ ในขณะที่ตลาดล่างจะเริ่มมีปัญหาสินค้าจากประเทศคู่แข่งทั้งจากจีนหรือเวียดนามเข้ามา และประเทศไทยเราแข่งกันด้วยราคาไม่ได้ เพราะค่าแรงที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง จึงควรหันมาแข่งด้วยคุณภาพของวัสดุและนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในการผลิตที่สอดคล้องกับเทรนด์ในตลาดโลก