แผ่นดินไหว 4.5 จ.พิษณุโลก มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บน "รอยเลื่อนมีพลัง" (Active Fault) ที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี พื้นที่ดังกล่าวอาจเป็น รอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (Hidden Fault) กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้หา "กลไกการเกิดแผ่นดินไหว" พบว่าแผ่นดินไหวเกิดจาก แนวรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ วางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหว ยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน
รายการเขียวรักษ์โลก "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปส่อง16 รอยเลื่อนมีพลังในไทย อยู่ที่ไหนบ้าง เป็นพื้นที่เสี่ยงเเผ่นดินไหวเเค่ไหน แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก "รอยเลื่อน" กันก่อนว่าคืออะไร
รอยเลื่อน (fault)
คือ รอยแตกแยกในหิน ซึ่งมีการเคลื่อนที่ของหินทั้งสองข้างโดยขนานกับระนาบรอยเลื่อน (fault plane) ลักษณะของระนาบรอยเลื่อนนี้อาจเป็นระนาบที่อยู่ในแนวดิ่งไปจนถึงแนวราบได้ ถ้าระนาบของรอยแตกมีค่าเบี่ยงไปจากแนวดิ่ง ชั้นหินที่อยู่เหนือระนาบของรอยแตก เรียกว่า หินเพดาน (hanging wall) ส่วนหินที่อยู่ด้านล่างระนาบของรอยแตกเรียกว่า หินพื้น (foot wall)
รอยเลื่อนมีพลัง
รอยเลื่อน ที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัวมาแล้วในช่วง 10,000 ปี ถือว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) ซึ่งมักจะพบอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย หรือตามแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก รอยเลื่อนมีพลังมีโอกาสที่จะขยับตัวได้อีกในอนาคต
รอยเลื่อนไม่มีพลัง
รอยเลื่อนที่ไม่พบหลักฐานการเลื่อนเป็นเวลานานมากว่า 10,000 ปี จะถูกจัดให้เป็น รอยเลื่อนไม่มีพลัง (Inactive fault) เเต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบบแรงภายในเปลือกโลกบริเวณนั้น รอยเลื่อนไม่มีพลังอาจจะมีโอกาสขยับตัวได้ในอนาคต
แผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย โดย กรมทรัพยากรธรณี แสดงให้เห็นการกระจายตัวของรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งพบมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย แบ่งได้เป็น 16 กลุ่มรอยเลื่อน