พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกร้อนระอุภายใต้อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคม ฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ทำลายสถิติสูงสุด 43.3 องศาเซลเซียส สนามบินในแถบชายฝั่งของอิหร่านมีดัชนีความร้อนอยู่ที่ 66.6 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนเกิดบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้นเป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่คาดว่าจะดำเนินต่อไป และอาจเลวร้ายลง
เพื่อเอาชนะความร้อนผู้คนหันมาใช้เครื่องปรับอากาศกันมากขึ้น จำนวนเครื่องปรับอากาศทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้น 244% ภายในปี 2593 ตามรายงานของ International Energy Agency และความต้องการอาจเพิ่มขึ้น 59% ในสหรัฐอเมริกา ตามการวิเคราะห์ในปี 2563 โดยกลุ่มวิจัยอิสระ Climate Central
ข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีอาคารประมาณ 1.6 พันล้านแห่งทั่วโลกที่มีเครื่องปรับอากาศ เป็นจำนวนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 พันล้านภายในปี 2593 ซึ่งเท่ากับมีการขายเครื่องปรับอากาศใหม่ 10 เครื่องในทุกๆ วินาทีในช่วง 30 ปีข้างหน้า ตามรายงานของ IEA
ปริมาณพลังงานที่จำเป็นเพื่อให้เพียงพอต่อการทำความเย็นภายในอาคารที่คาดการณ์ไว้จะเท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ผู้คนหลายพันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงได้ และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานก็สูงมาก
เทคโนโลยีนี้อาจมีราคาสูงในการซื้อและใช้งาน ซึ่งบ่อยครั้งทำให้ชุมชนยากจนในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงได้ ในสหรัฐอเมริกา การวิจัยแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักจะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ และจากการศึกษาหนึ่ง Improving the SDG energy poverty targets: Residential cooling needs in the Global South ในปี 2562 พบว่าประชากรระหว่าง 1.8 - 4.1 พันล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบกับอุณหภูมิที่สูงจนเป็นอันตรายเป็นประจำนั้นไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทำความเย็นได้
ในแง่หนึ่ง เครื่องปรับอากาศที่มากขึ้นเกิดประโยชน์ต่อประชากรเพื่อลดการสัมผัสความร้อนที่เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน นักวิจัยคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีทำความเย็นจะทำให้ประชากรได้รับความร้อนน้อยลง 40% ในยุโรป และ 35% ในอินเดียภายในปี 2593
แต่ในทางกลับกัน สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการปล่อยมลพิษ ระหว่างนี้ไปจนถึงปี 2050 / 2593 การผลิตพลังงานที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีเพิ่มขึ้นระหว่าง 7 - 17 ล้านตันในยุโรป และระหว่าง 38 - 160 ล้านตันในอินเดีย
ฟรานเซสโก โคเลลลี และ เอนริกา เดอ เซียน นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเวนิส ศึกษาการใช้เครื่องปรับอากาศในยุโรปและอินเดีย คำนวณและวิเคราะห์การปรับตัวของผู้บริโภคต่อสภาพภูมิอากาศเฉลี่ยในรอบหลายปี และจำลองสถานการณ์จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานเพื่อปรับตัวของมนุษย์ในปี 2593
ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการเครื่องปรับอากาศและการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในอินเดียและยุโรป นอกจากนี้การใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อคลายความร้อนที่อยู่ในระดับรุนแรงมีการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จะยิ่งบั่นทอนความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อย่างในอิตาลี หากคำนวณในสถานการณ์ที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4-5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2593 ช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะเพิ่มจากระดับปัจจุบัน 16 เปอร์เซ็นต์
นักวิจัยสรุปว่าการบรรเทาปัญหา จะต้องขายเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน อย่างในอินเดีย มีการขายเครื่องปรับอากาศที่คุณภาพต่ำกว่ารุ่นอื่นๆ รวมทั้งควรผลักดันไปสู่การลดคาร์บอนของการผลิตพลังงาน รวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาคาร์บอนสูงขึ้นได้ 5-30 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูล : theguardian , phys.org , sciencedirect