สยย.จ่อดัน "กะบะ-Eco car" สู่พลังงานสะอาด รับนโยบาย "EV"

18 ส.ค. 2566 | 10:39 น.

สยย.จ่อดัน "กะบะ-Eco car" สู่พลังงานสะอาด รับนโยบาย "EV" ชี้ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ EV หรือ CAV ระบุทำให้มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้นเป็น HEV และ PHEV

ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ (สยย.) เปิดเผยว่า ภาครัฐได้ตระหนักถึงการผลิตรถยนต์ในส่วน 70% หรือ 70@30 ซึ่งเป็นยานยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE และส่วนใหญ่เป็น Product Champion ของไทยคือ รถกระบะขนาด 1 ตัน และ Eco car ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ EV หรือ CAV 

โดยกำลังพิจารณาการส่งเสริมตามแนวทางสะอาด (หรือมาตรฐาน Euro 6) ประหยัด (พลังงาน หรือปล่อย CO2 ต่ำ) และปลอดภัย (หรือมาตรฐานการชน และ ADAS) ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวจะมีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยอาจจะเป็น HEV, PHEV สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างราบรื่น

ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยเป็นการวางทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยของภาครัฐที่ชัดเจน 

รวมถึงได้ออกมาตรการครอบคลุมในหลายด้าน ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี (โครงการ EV3) และมาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 

สยย.จ่อดันกะบะ-Eco carสู่พลังงานสะอาด รับนโยบาย EV "มาตรการที่นำไปสู่การดำเนินงานในลักษณะบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ EV และทำให้ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้ง ส่งผลให้นักลงทุนรายใหม่ และรายเดิมสนใจเพิ่มเติมการลงทุน โดยต้องการให้ภาครัฐพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริม (หรือ EV 3.5)"

นอกจากนี้ ยังเป็นการดึงดูดผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ให้เข้ามาลงทุนผลิตในประเทศด้วย โดยนโยบายของภาครัฐนี้ถือเป็นการชี้นำภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีทิศทางสอดคล้องกับทิศทางของยานยนต์โลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อย่างยั่งยืน

“การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย 30@30 ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ในปี 2030" 

ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มุ่งเน้นสองประการ คือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในระยะยาว

และการต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV) ที่นำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ รวมถึงการพัฒนายานยนต์ ICE ที่มีลักษณะ สะอาด ประหยัด และปลอดภัย 

อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษและเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนการปรับเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงแรงงานไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ครอบคลุมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป้าหมาย เพื่อยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่