คลื่นความร้อนทั่วโลกทำให้คุณภาพอากาศและมลภาวะแย่ลง นักวิทยาศาสตร์ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่า อุณหภูมิที่ร้อนจัดไม่ได้เป็นเพียงอันตรายจากคลื่นความร้อนเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะอีกด้วย
ในรายงานคุณภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศประจำปี นักอุตุนิยมวิทยาได้เน้นย้ำถึงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศ พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าคลื่นความร้อนทำให้เกิดไฟป่าทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา และคลื่นความร้อนที่มาพร้อมกับฝุ่นละอองในทะเลทรายทั่วยุโรป ซึ่งก่อให้เกิดคุณภาพอากาศที่เป็นอันตรายในปี 2565
อุณหภูมิที่ร้อนจัดในยุโรปซึ่งทำลายสถิติ ในปี 2565 ส่งผลให้ฝุ่นละอองในอากาศมีระดับสูงขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม 2565 ยังมีฝุ่นทะเลทรายเข้ามาปกคลุมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปในระดับสูงผิดปกติอีกด้วย
"คลื่นความร้อนทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง โดยมีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ระบบนิเวศ เกษตรกรรม และชีวิตประจำวันของเรา" ศาสตราจารย์ เพตเตอรี ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าวและว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคุณภาพอากาศไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ต้องจัดการร่วมกันเพื่อทำลายวงจรอันเลวร้ายนี้
“เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยความร้อนจัดในหลายพื้นที่ของซีกโลกเหนือ และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม”
ประชาชนสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้ในกรณีเกิดไฟป่าและอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความร้อน กรณีศึกษาจากบราซิลที่แสดงให้เห็นว่าสวนสาธารณะและพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ภายในเขตเมืองสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้
“คลื่นความร้อนและไฟป่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ควันจากไฟป่าประกอบด้วยสารเคมีไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับพืช ระบบนิเวศ และพืชผลอีกด้วย และนำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้นและก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศก็เพิ่มมากขึ้น” ดร.ลอเรนโซ ลาบราดอร์ WMO กล่าว
ขณะที่รายงานฉบับใหม่จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ (WMO) พบว่าโลกเพิ่งประสบกับ เหตุการณ์ ที่ร้อนแรงที่สุดในรอบ 3 เดือนติดต่อกันเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลจาก Copernicus Climate Change Service (C3S) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป พบว่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลทั่วโลกยังคงสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน
อ้างอิง
World meteorologists point to ‘vicious cycle’ of heatwaves and air pollution