โลกร้อนเป็นไฟ ซัมเมอร์นี้ทุบสถิติร้อนที่สุด เสี่ยงทั้งไฟป่าและน้ำท่วม    

07 ก.ย. 2566 | 02:40 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 02:55 น.

ฤดูร้อนปี 2566 นี้ สร้างสถิติใหม่ เป็นช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิโลกเดือดที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกอย่างเป็นทางการ สะท้อนสภาพภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้ง ไฟป่า รวมทั้งระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงและฝนหนัก ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในบางพื้นที่  

 

สำนักงาน การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ของ สหภาพยุโรป(อียู) เปิดเผยรายงานล่าสุดวานนี้ (6 ก.ย.) ระบุว่า ฤดูร้อนปี 2566 ทั่วโลกมี อุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุด เท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติไว้ โดยในช่วงเวลาสามเดือนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 16.8 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานราว 0.66 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมายังสร้างสถิติใหม่เป็นเดือนที่ “ร้อนที่สุด” เป็นประวัติการณ์ด้วย ซึ่งนับเป็นการทำลายสถิติใหม่สามเดือนติดต่อกัน หลังจากที่เดือนมิถุนายนและกรกฎาคมต่างทำสถิติเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดมาทั้งสองเดือน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เดือนสิงหาคมปี 2566 นี้ มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมระหว่างปี พ.ศ. 2393- 2443 (ค.ศ. 1850 – 1900) จึงนับว่าอุณหภูมิความร้อนของโลกที่พุ่งสูงขึ้นนั้นถึงขีดซึ่งเป็นเพดานที่ 196 ประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเมื่อปี 2558 มีมติว่าจะร่วมกัน “จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก” ไม่ให้เกินระดับดังกล่าว (ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส)

ความร้อนที่เพิ่มขึ้นส่งผลทั้งต่อสังคมและระบบนิเวศ

รายงานระบุว่า เดือนกรกฎาคม 2566 ยังคงเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติไว้ แต่สถิติในเดือนสิงหาคมบ่งชี้ถึงฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในซีกโลกเหนือนับตั้งแต่ที่เคยมีการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2483

“สถิติอุณหภูมิโลกร้อนยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกในปี 2566” ซาแมนธา เบอร์เกส รองผู้อำนวยการสำนักงานการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปกล่าว และว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยิ่งชี้ชัดว่า เราจะได้เห็นสถิติใหม่ๆเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลกต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นและเกิดขึ้นถี่กว่าในอดีต ส่งผลกระทบทั้งด้านสังคมและระบบนิเวศ จนกว่ามนุษย์จะยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ก๊าซโลกร้อน   

ในแถบยุโรป ความร้อนในเดือนสิงหาคมปีนี้ มาพร้อมกับฝนที่ตกมากกว่าปกติครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ทางตอนกลางของยุโรปและสแกนดิเนเวีย ก่อให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ขณะที่ฝรั่งเศส กรีซ อิตาลี และโปรตุเกส กลับต้องเผชิญกับความแห้งแล้งซึ่งนำไปสู่การเกิดไฟป่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้น

ภัยแล้งและอุณหภูมิที่พุ่งสูง ทำให้บางภูมิภาคต้องเผชิญกับความแห้งแล้งซึ่งนำไปสู่การเกิดไฟป่า

ส่วนประเทศในซีกโลกใต้อย่างออสเตรเลีย กำลังเผชิญอุณหภูมิความร้อนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นเดียวกับหลายประเทศในแถบอเมริกาใต้ รวมทั้งประเทศแถบขั้วโลกใต้ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันของน้ำทะเลทั่วโลก (อุณหภูมิ ณ ผิวทะเล) ก็อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่เช่นกัน และร้อนมากที่สุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ยังเหลืออีก 4 เดือนกว่าจะสิ้นปี จนถึงตอนนี้ ปี 2566 สร้างสถิติเป็นปีที่ร้อนเป็นอันดับสองเท่าที่มีการบันทึกสถิติมา โดยปีที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุดก่อนหน้านี้และยังคงครองแชมป์อยู่คือปี 2559   

ข้อมูลอ้างอิง