หลายคนคงเคยได้ยิน คำว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” (Alien Species) ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น ไม่ได้หมายถึงสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงพืช จุลินทรีย์ เชื้อรา ด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมใหม่จากการเข้ามาขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย เช่น อากาศ ความชื้น แสงแดด สายลม เหมาะสมกับพวกเขามากน้อยแค่ไหน หากสามารถปรับตัว ก็จะแพร่กระจายพันธุ์ได้ดี ขยายอิทธิพลในพื้นที่จนเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” (Invasive Alien Species)
หากจำกันได้ประเทศไทยก็เคยพบเจ้าหนอนตัวจิ๋ว "หนอนตัวแบนนิวกินี" เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของแวดวงชีววิทยาไทยที่สัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานในช่วงเวลานั้น
มีรายงานที่น่าสนใจ เผยแผร่โดย Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) องค์กรที่ประกอบด้วยกว่า 140 ประเทศ ให้การประเมินทางวิทยาศาสตร์แก่ผู้กำหนดนโยบาย เพื่อช่วยปกป้อง "ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก" และป้องกันการสูญพันธุ์ บทสรุปของการค้นพบได้รับการอนุมัติในช่วงสุดสัปดาห์และเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมีฉบับเต็มมีกำหนดเผยแพร่ในปลายปีนี้ด้วย
รายงานสรุปว่าภัยคุกคามจาก ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) นั้น ถูกประเมินค่าต่ำเกินไป และมักไม่ได้รับการยอมรับ โดยมีเพียงประมาณ 1 ใน 6 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่มีกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับพืชและสัตว์รุกราน ด้วยสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน และปัญหาคาดว่าจะแย่ลง
การประเมินครั้งสำคัญพบว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานที่เป็นอันตรายมากกว่า 3,500 ชนิด สร้างความเสียหายต่อโลกมากกว่า 423 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะยุคสมัยใหม่ของการค้าและการเดินทางทั่วโลกยังคงเพิ่มการแพร่กระจายของพืชและสัตว์ไปทั่วทวีปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
จากข้อมูลของรายงานที่ระบุว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ไม่สามารถผ่านเข้ามาในพื้นที่ได้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมนุษย์ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ผลที่ตามมาคือการแย่งชิงพืชและสัตว์ต่างๆ ในโลกนี้อย่างรุนแรง โดยมีผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์และระบบนิเวศ
สัตว์รุกรานที่แพร่หลายที่สุดตามรายงานคือ "หนูดำ" แพร่กระจายบนเรือ ในเมืองหนาแน่น เเละเกาะที่อยู่ห่างไกล ทำลายนกทะเลที่ทำรังบนพื้นดินและสัตว์อื่นๆ แม้แต่ปลาในแนวปะการังบริเวณใกล้เคียงก็ยังรู้สึกได้จากการปลี่ยนแปลงการไหลของสารอาหารลงสู่มหาสมุทร โดยเกาะห่างไกลมีแนวโน้มที่จะถูกบุกรุกเป็นพิเศษ
ที่เกาะกวม งูต้นไม้สีน้ำตาล ทำให้นกพื้นเมืองหลายตัวสูญพันธุ์ไปแล้ว หรือเเม้เเต่ที่ เกาะเมาวี รัฐฮาวาย พลังทำลายล้างของพืชพรรณรุกรานได้ส่งผลอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนที่แล้ว โดยหญ้าทำให้เกิดไฟป่าที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก
หนึ่งในผู้รุกรานทางน้ำที่ทำลายล้างมากที่สุด ซึ่งดูเหมือนจะเป็นดอกไม้ที่ดูบอบบาง อย่าง ผักตบชวา มีพื้นเพมาจากอเมริกาใต้ เป็นพืชลอยน้ำที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนครอบคลุมบ่อน้ำและทะเลสาบทั้งหมด ทิ้งคราบสกปรกที่เป็นอุปสรรคต่อการจราจรทางเรือและการตกปลา บางกรณีต้นไม้ดูดน้ำมากจนทำให้ทะเลสาบแห้งและทำให้ชุมชนขาดน้ำดื่ม รายงานดังกล่าวถือว่า ผักตบชวาปรากฏขึ้นทุกที่ตั้งแต่แอฟริกาไปจนถึงออสเตรเลีย เป็นพืชรุกรานที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ตามรายงานยังระบุว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานอาจทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น โดยแมลงฆ่าต้นไม้ อย่าง หนอนเจาะเถ้ามรกตที่แพร่กระจายไปทั่วอเมริกาเหนือทำให้ป่าไม้แยกคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้ยากขึ้น
ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ผลกระทบจาก "ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน" แบ่งออกได้ 4 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางการเกษตร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรายมากกว่า 3,500 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำ ที่ถูกนำเข้ามาโดยตรง เพื่อผลประโยชน์ทางการเกษตร การเพาะเลี้ยง หรือเป็นพืชและสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด อ้อย ยางพารา สุกร เป็นต้น
ข้อมูล
IPBES Invasive Alien Species Assessment
Scientists warn invasive pests are taking a staggering toll on society