ปตท.สผ.เล็งทุ่ม 1.4 หมื่นล้าน เร่งรัฐคลอดมาตรการ หนุนกักเก็บคาร์บอน

21 ต.ค. 2566 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2566 | 07:56 น.

ปตท.สผ.พร้อมลุยกักเก็บคาร์บอนฯ ในแหล่งอาทิตย์ หลังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไฟเขียว เบื้องต้นกักเก็บ 7 หลุม ด้วยงบลงทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท จี้ภาครัฐบูรณาการเร่งสนับสนุนมาตรการจูงใจลงทุน ให้เกิดเป็นโครงการนำร่อง หนุนประเทศสู่ Net Zero

ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608 โดยเห็นความสำคัญของการศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าดังกล่าวได้

โครงการ CCS ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่แหล่งอาทิตย์ ในอ่าวไทย ถือเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่จะเกิดขึ้นในการขับเคลื่อน โดยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) ครอบคลุมด้านการตรวจสอบและประเมินความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหินใต้ดินเบื้องต้น ด้านการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดักจับและกักเก็บ ด้านแผนการเจาะหลุมสำหรับกักเก็บ เป็นต้น และการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) แล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED)

ส่วนโครงการการจะเกิดขึ้นได้จริง หรือนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายหรือไม่นั้น ปตท.สผ.อยู่ระหว่างรอความชัดเจนด้านนโยบาย กฎหมาย และปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หลังจากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอนุมัติในการกักเก็บคาร์บอนฯในชั้นหิน แหล่งอาทิตย์แล้ว

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า โครงการ CCS เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่มีบทบาทสำคัญให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามกรอบยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย ที่ตั้งเป้าหมายในการกักเก็บคาร์บอนให้ได้ประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ภายในปี ค.ศ.2050 และเพิ่มเป็น 60 ล้านตันต่อปี ภายในปี ค.ศ.2065

ปตท.สผ.เล็งทุ่ม 1.4 หมื่นล้าน เร่งรัฐคลอดมาตรการ หนุนกักเก็บคาร์บอน

ทั้งนี้ จากการประเมินความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหินใต้ดินเบื้องต้นของแหล่งอาทิตย์ ได้วางแผนการกักเก็บคาร์บอนฯ ทั้งหมดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม จะต้องใช้ทั้งหมด 7 หลุม ตามแผนเดิม คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ได้จริงในปี 2569 จะช่วยลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณ 700,000 - 1,000,000 ตันต่อปี ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) แม้ว่าจะเป็นโครงการที่สามารถใช้ facility ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแล้วก็ตาม

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ดังนั้น ด้วยการลงทุนโครงการที่มีเม็ดเงินค่อนข้างสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะการจะทำให้โครงการสำเร็จได้ จะต้องมีปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่ช่วยให้โครงการมีต้นทุนที่เหมาะสม มาตรการสนับสนุนการลงทุน ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีมาตรการที่แตกต่างกันไป เช่น การจัดสรรเงินทุนให้เปล่าเพื่อลงทุนในโครงการ CCS การใช้มาตรการทางภาษีในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้เครดิตภาษีเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษี การนำมูลค่าการลงทุนในโครงการ CCS มาลดภาษี เป็นต้น การยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ ในเรื่องความมั่นใจในการดำเนินงานโดยไม่เกิดผลกระทบ และกฎหมายรองรับการทำโครงการ CCS ซึ่งจะต้องมีการให้สิทธิและควบบคุมกำกับดูแลการดำเนินโครงการ เช่น การเลือกพื้นที่ทำโครงการ การอนุมัติการดำเนินโครงการ การติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากโครงการ CCS แหล่งอาทิตย์เกิดขึ้นได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้สามารถพิสูจน์ทราบทางเทคนิค และสร้างความมั่นใจในการกักเก็บ CO2 ในพื้นที่อ่าวไทย เพื่อขยายผลในระยะยาวต่อไป โดยเฉพาะโครงการ Eastern CCS Hub (อ่าวไทยตอนบน) ที่จะเป็นความหวังในการบรรลุความเป็นกลางคาร์บอนของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2593 ที่จะมาช่วยกักเก็บคาร์บอนฯให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และ เหล็ก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

“หากโครงการ CCS แหล่งอาทิตย์ ประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้ โครงการ Eastern CCS Hub เดินหน้าต่อไปได้ เพราะพื้นที่ดังกล่าว มีความจำเป็นต้องมีการสำรวจทางธรณีวิทยาอย่างจริงจัง รวมถึงการเจาะหลุมสำรวจเพื่อศึกษาความเหมาะสมของชั้นหินปิดทับ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐจะส่งผลให้โครงการ CCS เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมาตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่วางไว้ได้”