จาก‘ขยะ’ สู่ร้านกาแฟกรีนดีไซน์ ‘ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก’

10 ธ.ค. 2566 | 22:08 น.

“ซีพี ออลล์” พาชมโมเดล “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” ร้านกาแฟกรีนดีไซน์จากวัสดุอัปไซเคิล ต่อยอดความสำเร็จการสร้างเครือข่ายจัดการขยะ สู่โมเดลหนุนรายได้โรงเรียน-ชุมชนยั่งยืน

คิกออฟโครงการเพื่อสังคมเมื่อ 5 ปีก่อน วันนี้ “ซีพี ออลล์” เดินหน้าสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการจัดการการศึกษาไทย ผ่านการสนับสนุนงบประมาณ องค์ความรู้ และเครื่องมือที่จำเป็นให้แก่โรงเรียนภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED จำนวนมากกว่า 563 โรงเรียน ล่าสุดกับโมเดลใหม่ “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” ร้านกาแฟกรีนดีไซน์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล-อัปไซเคิล

“ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ เล่าให้ฟังว่า ซีพี ออลล์ให้การสนับสนุนโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนระดับท็อปที่โดดเด่นด้านการบูรณาการหลักสูตรการศึกษาเข้ากับการจัดการขยะในโรงเรียนภายใต้โครงการต้นกล้าไร้ถัง ต่อยอดสู่โครงการใหม่ “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” ด้วยการพัฒนาร้านกาแฟกรีนดีไซน์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล-อัปไซเคิลในการออกแบบตกแต่งร้าน รวมถึงใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและภาชนะย่อยสลายได้

จาก‘ขยะ’ สู่ร้านกาแฟกรีนดีไซน์ ‘ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก’

“โครงการต้นกล้าไร้ถังของอนุบาลทับสะแก โดดเด่นมาก เพราะตัวโมเดลสามารถลดขยะจากเดือนละ 15 ตัน เหลือเพียง 2 กิโลกรัมต่อเดือนจนกลายเป็นโมเดลที่เราเข้าไปช่วยขยายผลสู่กว่า 750 โรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้วันนี้มองเห็นโอกาสที่จะทำให้การจัดการขยะเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร

สร้างสรรค์ให้เกิดทับสะแกกรีนคาเฟ่ รักษ์โลก เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้คนเห็นภาพได้ชัดเจนว่าการจัดการขยะ การรีไซเคิล อัปไซเคิล สร้างประโยชน์อย่างไรบ้าง และเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้บ่มเพาะมุมมองวิชาชีพการทำร้านกาแฟ ฝึกทักษะอาชีพให้แก่เยาวชน พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้โรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน”

จาก‘ขยะ’ สู่ร้านกาแฟกรีนดีไซน์ ‘ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก’

“ตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ บอกว่า ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ บนถนนที่ว่าการอำเภอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม (Green Concept) 5 ด้าน ได้แก่

1.Green Design การออกแบบร้านให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ มีลมผ่านเข้าออกโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ให้แสงสว่างส่องผ่านทั่วถึงลดการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างและใช้แสงจากธรรมชาติแทน

2.Green Material & Equipment การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล อาทิ หลังคาและกระเบื้องผนังทำจากการอัปไซเคิลกล่องนมยูเอชที เคาน์เตอร์ชงเครื่องดื่มที่ปูด้วยแผ่นไม้อัปไซเคิลจากเยื่อกระดาษ โต๊ะเก้าอี้จากกระดาษรีไซเคิล และโต๊ะเก้าอี้ที่อัปไซเคิลจากถุงนม

3.Green Food Good Taste ออกแบบเมนูที่ใส่ใจต่อสุขภาพ รสชาติดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีเอกลักษณ์จากท้องถิ่น เช่น นำมะพร้าว มาทำเป็นเมนูซิกเนเจอร์ ทั้งกลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่ม

จาก‘ขยะ’ สู่ร้านกาแฟกรีนดีไซน์ ‘ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก’

4.Green Packaging เลือกใช้ภาชนะ อาทิ แก้ว จาน ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Compostable) ไม่ใช่แค่สลายตัวได้ (Degradable) เช่น สายคล้องหูหิ้วแก้วกาแฟจากต้นกก หลอดกระดาษ

5.Green People เปิดทางให้นักเรียนที่มีใจรักสิ่งแวดล้อม และผ่านหลักสูตรต้นกล้าไร้ถัง เข้ามามีโอกาสเรียนรู้ทักษะการบริหารร้านกาแฟทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ส่งเสริมให้ร้านกาแฟกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนอย่างมีไลฟ์สไตล์ และส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,946 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566