นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) กล่าวในงานสัมมนา SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ Climate Tech ว่า AWS ตั้งเป้าไปสู่ Net Zero ในปี 2040
โดยความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ตั้งเป้าหมายไปสู่ Net Zero ในปี 2050 แต่ AWS มองว่าช้าไป จึงได้ตั้งกลุ่มใหม่ Climate Tech ขึ้นมา และขยับเป้าหมายจากปี 2050 มาเป็น 2040 และเชิญชวนองค์กรมาเข้าร่วมกลุ่มแล้วประมาณ 400 ราย
“AWS เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มีการใช้พลังงานจำนวนมาก การลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในแต่ละประเทศนั้นจะต้องดูว่าประเทศนั้นมีแหล่งพลังงาน และมีแหล่งพลังหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ โดย AWS ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ในดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกให้ได้ 100% ในปี 2050 ซึ่งขณะนี้ดาต้าเซ็นเตอร์ของ AWS ใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วประมาณ 90% และมีการชดเชยคาร์บอน ส่วนเรื่องน้ำนั้น ตั้งเป้าในปี 2030 ต้องผลิตน้ำสะอาดให้มากกว่าน้ำที่ใช้ไป ”
นายวัตสัน กล่าวต่อไปอีกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนของ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความยั่งยืนนั้นคือ อะเมซอน ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่สุดของโลก ตลอดเส้นทางตั้งแต่การรับออเดอร์ ถึงกระจายสินค้า มีส่วนของความยั่งยืน เริ่มจากการหาสินค้าเข้ามา หรือการจัดหาแพ็กเกจจิ้งที่ช่วยลดโลกร้อน หรือ แพ็กเกจจิ้งอินโนเวชัน โดยนำ AI และ แมชีน เลิร์นนิ่ง มาใช้ในสายพานสินค้า เพื่อคำนวณการตัดกล่องสินค้าให้เหมาะกับตัวสินค้า ซึ่งช่วยลดกระดาษไปได้ 40% หรือ 2 ล้านตันภายในระยะเวลา 3 ปี ลดน้ำหนักสินค้าที่จัดส่งไป 30% ช่วยให้การขนส่งประหยัดพลังงานขึ้น และมีการจัดซื้อรถยนต์ขนส่งไฟฟ้า 10,000 คันทั่วโลก
ส่วน AWS เป็นผู้นำคลาวด์ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด โดยการลงทุนเซิร์ฟเวอร์ชององค์กรนั้นต้องมีการลงทุนเผื่อไว้ช่วงพีคไทม์ ซึ่งปกติจะเผื่อไว้ 5 เท่า ของการใช้งานจริง ซึ่งคลาวด์ ตอบโจทย์องค์กรที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ คิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง ประหยัดพลังงานไม่ต้องลงทุนตั้งเซิร์ฟเวอร์เอง และมีการนำ AI มาใช้งานทำงานได้ดีกว่าตั้งเซิร์ฟเวอร์เอง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาหน่วยประมวลผลเฉพาะขึ้นมาที่ช่วยให้ประหยัดพลังงาน ลง 30-60%
ขณะที่นายณัฏฐพัชร์ ชลภัทรธนัทสิริ ผู้อำนวยการกลุ่มดิจิทัล เอ็นเนอร์ยี่ บริษัทชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลตลาดประเทศไทย ลาว และเมียนมา กล่าวว่า เรื่องความยั่งยืนมีหลายมิติ โดยชไนเดอร์ ตั้งเป้าหมายไปสู่ Net Zero ในปี 2050 มีการติดตามความคืบหน้า และวัดผล KPI เป็นระยะ มีการสนับสนุน ผลักดันพาร์ทเนอร์ให้สามารถช่วยลดมลพิษ การใช้วัสดุดิบที่เป็นกรีน แพ็กเกจจิ้ง ที่สามารถรีไซเคิล
ส่วนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในแวลูเชน ต้องมีความโปร่งใส มีการทำธุรกรรมถูกต้อง คนในองค์กรต้องมีความเสมอภาค นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ที่สำคัญ ชไนเดอร์ ยังสื่อสารเรื่องโลกร้อน และความยั่งยืน ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่