นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2024 หัวข้อเรื่อง “New challenge to be chance” ว่า ความท้าทายกระแสความยั่งยืน คือ ตลท. อยากทำให้บริษัท และนักลงทุนมองข้ามความยาก และมองว่ากระแสความยั่งยืนเป็นโอกาส
โดยปัจจุบันความท้าทายต่อธุรกิจไทย มีข้อกำหนด กฎหมายที่เข้มงวด ได้แก่ IFRS S1 S2 เป็นการเปิดเผยข้อมูล climate หากบริษัททำดี มีความน่าเชื่อถือ นักลงทุนก็นำไปใช้ และทำให้เกิดการลงทุน และแรงจูงใจจากการลงทุน ก็จะกลับมาทำให้บริษัททำดีอย่างต่อเนื่อง, COP28 เจตจำนงค์ที่นานาประเทศร่วมข้อตกลงเดียวกันที่จะไปสู่สังคม NET ZERO
นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดของ CBAM ซึ่งเป็นราคาคาร์บอนของสินค้าที่เข้ายุโรป แม้ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมซัพพลายทั้งหมด แต่อนาคตหากมีการขยายมากขึ้น หากไม่มีการปรับตัว หรือไม่มีภาษีภายในที่จะไปชดเชยให้กับยุโรปได้ ประเทศไทยก็จะเสียเปรียบในเวทีการค้าโลก, CORSIA รายงานและชดเชยการปล่อย GHG จากการบิน, และ IMO รายงานการปล่อย GHG จากการเดินเรือ เป็นต้น
“ประเทศไทยมีเกณฑ์ของก.ล.ต. ให้เปิดเผยข้อมูลทางด้านคาร์บอนเช่นเดียวกัน ซึ่งจาก 800 กว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มี 55 บริษัท ที่เปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ปริมาณรวมของการปล่อยคาร์บอน และได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนลงเท่าใด ส่วนนี้เป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้จำนวนบริษัทมากขึ้นทำ“
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลังก็ได้ให้แรงจูงใจประชาชน จากการซื้อกองทุน THAI ESG ที่ลงทุนในหุ้นที่อยู่ใน SET เรทติ้ง หรือใน 55 บริษัทที่ปรับตัวสู่กรีนแล้ว ฉะนั้น เรามองว่าแรงจูงใจให้เดินหน้าสู่ความยั่งยืนมาแล้ว คาดว่าปลายปีหน้า หากมีกองทุนในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาอีก จะมีบริษัทที่เดินหน้าสู่ความยั่งยืนมากกว่านี้ ซึ่งตลท.อยากจะเห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบริษัท
ทั้งนี้ ในกระแสความยั่งยืนนั้น สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ 4 แนงทาง ได้แก่ 1. สร้างความโปร่งใส และความเชื่อมั่นต่อการแก้ไข Climate crisis 2. สร้างรายได้จากสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3. สร้างโอกาสปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับ Low Carbon Economy และ 4. สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว
“บอนด์สีเขียวกำลังมา รวมถึงเงินในตลาดทุนด้วย ซึ่งกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับปัจจุบัน เดิมมีอยู่ 10 กว่ากอง ขณะนี้มีอยู่ที่ 60 กว่ากอง และยังไม่รวมถึง 22 กองที่ออกมาเป็น THAI ESG ซึ่งเป็นเงินทุนจำนวนมากที่เข้ามา หากสามารถปรับธุรกิจไปสู่กรีน ย่อมหมายถึงเราสามารถปรับตัวเข้าถึงแหล่งทุนที่สะดวกขึ้น“
ทั้งนี้ ตลท. ก็ได้มีการช่วยเหลือสำหรับบริษัทที่ต้องการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนทุกโอกาส ได้แก่ การให้ความรู้ จัดเวิร์คชอปให้กับบริษัท ผลักดันบริษัทก้าวไปสู่แชมป์ความยั่งยืนระดับโลก, มีดาต้าแพลตฟอร์ม, ทำงานร่วมกันกับ Bursa & IDX และยังมี SET NET ZERO ด้วย