ปตท.สผ. ทุ่ม 1 ล้านล้านใน 5 ปี ลุยธุรกิจดักจับ-กักเก็บคาร์บอน

18 ธ.ค. 2566 | 05:01 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 05:51 น.

ปตท.สผ. กางแผนลงทุน 5 ปี ทุ่ม 1 ล้านล้านบาท เพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียม 5.87 แสนบาร์เรลต่อวัน จากโครงการหลักในประเทศ พร้อมลุยโครงการการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS ตั้งเป้าหมายการขายเติบโต 9% ในปี 2567

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก คือ การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) และการเติบโตในธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Diversify)

ทั้งนี้ บริษัทได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการลงทุนช่วง 5 ปี (2567-2571) รวม 32,575 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.08 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) ประมาณ 20,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 6.89 แสนล้านบาท และเป็นรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) ประมาณ 11,828 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3.93 แสนล้านบาท

อีกทั้ง ปตท.สผ. ได้ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยได้สำรองงบประมาณเพิ่มเติม (Provisional budget) สำหรับปี 2567-2571 อีกจำนวน 2,022 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 6.78 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนนอกชายฝั่ง (Offshore Renewables) ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทมีอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ รวมถึงธุรกิจใหม่อื่น ๆ อีกด้วย

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการลงทุนในปี 2567 บริษัทได้จัดสรรงบประมาณไว้ที่ 6,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.30 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 4,316 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.47 แสนล้านบาท และรายจ่ายดำเนินงาน 2,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 8.23 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับแผนงานหลักในเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล และฟูนาน) โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมถึงโครงการผลิตหลักในต่างประเทศ โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน 3,202 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.09 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว

นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังมีแผนการดำเนินกิจกรรม ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ด้วยการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนตํ่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต เช่น การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) รวมถึง การดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้ 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3,733 ล้านบาท

อีกทั้ง เร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค410บี และโครงการอื่น ๆ ในมาเลเซีย รวมทั้ง โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน โดยบริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 762 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.60 หมื่นล้านบาท

รวมถึงเร่งดำเนินการสำรวจในโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว ซึ่งได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 7,535 ล้านบาท สำหรับการศึกษาทางธรณีวิทยา การเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลของโครงการในประเทศไทย มาเลเซีย โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

จากแผนงานดังกล่าว ปตท.สผ. ได้ประมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวัน (Average sales volume) จากโครงการปัจจุบัน ระหว่างปี 2567- 2571 โดยในปี 2567 จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่ 505,000 บาร์เรลเทียบเท่านํ้ามันดิบต่อวัน และปี 2571 จะเพิ่มขึ้นเป็น 587,000 บาร์เรลเทียบเท่านํ้ามันดิบต่อวัน

 “ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปี 2567 ขึ้นประมาณ 9 % ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการผลิตของโครงการจี 1/61 ส่วนในช่วง 5 ปีข้างหน้า การลงทุนหลัก ๆ จะเน้นการพัฒนาโครงการสำคัญให้สามารถเริ่มการผลิตปิโตรเลียมได้ เพื่อสร้างการเติบโตตามแผนงาน ในขณะเดียวกัน ยังมองหาโอกาสการลงทุนในพลังงานสะอาดในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกด้วย” นายมนตรี กล่าว