ภายใต้(ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 -2570 ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรืออีอีซี และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนธันวาคม 2566 นี้ หนึ่งในแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูป โภคในพื้นที่อีอีซี พ.ศ 2566-2570 เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าขึ้นมารองรับ โดยพุ่งเป้าไปที่โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) ที่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดการจัดให้มีระบบพลังงานหมุนเวียนรองรับอุปสงค์ของนักลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้มีความได้เปรียบในการชักจูงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ และยังสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
แผนดังกล่าว ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานจากพลังงานทดแทน / พลังงานสะอาด (Renewable Energy) ต่อพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเป็น 30:70 โดยภายในปี 2569 เป็นระยะทดลองให้มีการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ และในระยะต่อไป จะขยายถึง 30% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (Independent Power Supply : IPS) ในการพัฒนาที่เกิดขึ้นใหม่ และในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 28 เขต
มีการคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีในปี 2580 จะมีปริมาณ 11,485 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 1,679 เมกะวัตต์ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม 4,237 เมกะวัตต์ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 284 เมกะวัตต์ และเมืองใหม่และชุมชน 5,285 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในพื้นที่อีอีซีนั้นอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีในการใช้อำนาจของ กพอ. ตามมาตรา 37 ในการอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือสัมปทานกิจการพลังงานในพื้นที่อีอีซี และเสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานในพื้นที่ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความตกลง เพื่อกำหนดขอบเขตของการใช้อำนาจให้เกิดความชัดเจน รวมทั้งหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแล หรือติดตามการดำเนินการ ไม่ให้เกิดความซํ้าซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ หรือก่อให้เกิดภาระ หรือความไม่สะดวกแก่ประชาชน
ทั้งนี้ การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่อีอีซี จะดำเนินการโดยไม่ต้องบรรจุภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แต่เป็นการดำเนินการในรูปแบบของการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง (IPS) ไม่มีการขายพลังงานไฟฟ้าเข้ามาในระบบของการไฟฟ้า ซึ่งจะไม่กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศโดยรวม ปัจจุบันบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ร่วมทุนบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ขึ้นมาเพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการจัดซื้อที่ดินจำนวนประมาณ 3,100 ไร่ มูลค่าที่ดินพร้อมส่วนปรับปรุงค่าบริหารจัดการและค่าพัฒนาโครงการ เป็นจำนวนเงินกว่า 3,174 ล้านบาท
ขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะเป็นแบบ Non-firm ในอัตราขายส่ง ช่วง Peak ที่ 4.2243 บาทต่อหน่วยและช่วง Off-Peak ที่ 2.3567 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาให้สิทธิ บริษัท บี.กริม มีแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่สนามบินอู่ตะเภา และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะนำไปจำหน่ายต่อให้กับสวัสดิการกิจการไฟฟ้า สัมปทานสัตหีบ กองทัพเรือ และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีแผนพัฒนาการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็น Sandbox สำหรับการนำร่อง Smart Grid เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ EECi อีกด้วย