"GGC"เตรียม 2 พันล.รุกธุรกิจตามกลยุทธ์-มุ่ง"Net Zero"ปี 93

20 ธ.ค. 2566 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2566 | 07:05 น.

"GGC"เตรียม 2 พันล.รุกธุรกิจตามกลยุทธ์-มุ่ง"Net Zero"ปี 93 จากสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนจากธนาคารกรุงไทย พร้อมนำมาบริหารจัดการสภาพคล่ององค์กร

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ได้รับการสนับสนุนนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ระยะยาวกับ GGC จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารกรุงไทย

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ รวมถึงการลงทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อดำเนินการตามนโยบายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และการบริหารจัดการสภาพคล่อง 
 

รวมทั้งการดำเนินการด้านความยั่งยืน และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในเรื่อง ESG ต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยมีตัววัด KPI ที่เชื่อมโยงการจัดอันดับ CDP Climate Rating และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ขององค์กรในปี 2593

“สินเชื่อดังกล่าวมีเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยสัญญาการสนับสนุนสินเชื่อ SLL นี้ นอกจากจะใช้เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ รวมถึงการลงทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อดำเนินการตามนโยบายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และการบริหารจัดการสภาพคล่อง" 

นายสุรธันว์ คงทน ประธานผู้บริหาร Wholesale Banking  ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ ยึดหลักการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน  (SDGs) ของสหประชาชาติ

สำหรับ Sustainability-Linked Loan นั้น เป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาว เพื่อลงทุนพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมหรือสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมและสังคม โดยธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเชื่อมโยงกับดัชนีชี้วัดความยั่งยืนของบริษัท ทั้งการจัดอันดับด้านความยั่งยืนระดับสากล (Global Rating) และการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นับเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน ให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับทุกภาคส่วนในสังคมอย่างยั่งยืน