นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ ในงานสัมมนา “Go Thailand:Green Economy-Landbridge โอกาสทอง? จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ในหัวข้อ “นโยบายลงทุนไทย ภายใต้บริบทใหม่” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อทิศทางการลงทุนในอนาคต โดยจากการเดินทางไปจัดกิจกรรมในต่างประเทศของบีโอไอพบว่านักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับเรื่องการลดคาร์บอนเป็นหลัก รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดในกิจการ
ขณะที่จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่จะมีผลต่อการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า มีหลายปัจจัย เช่น Climate Change, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และกฎกติกาภาษีใหม่ของโลกที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้นการขับเคลื่อนการลงทุนของบีโอไอใน 4 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2570) จะมุ่งเน้นดึงการลงทุนอุตสาหกรรมตามแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การลงทุนสีเขียวที่จะช่วยสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยมีเป้าหมายการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรม BCG เพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 24% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2570 จาก 3.4 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท และมุ่งสู่การเป็น BCG Hub ของอาเซียน
นายนฤตม์ ยังเผยถึงการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีและคณะในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่สำคัญได้มีการจัดงานสัมมนาใหญ่ มีนักธุรกิจญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 500 คน ซึ่งทีมรัฐบาลได้สื่อสารถึงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อชี้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทยที่เป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่น
ไฮไลท์สำคัญในครั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นอย่างน้อย 10 ราย ในจำนวนนี้ 7 รายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (โตโยต้า, มิตซูบิชิ, ฮอนด้า, อีซูซุ, ซูซูกิ, นิสสัน, มาสด้า) อีก 3 รายมีพานาโซนิค คูโบต้า และมิตซุย
“กลุ่มรถยนต์ทั้ง 7 รายของญี่ปุ่น เป็นบิ๊กเพลย์เยอร์อยู่ในเมืองไทยในเวลานี้ ซึ่งทุกบริษัทพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาคนี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะดูแลและสนับสนุนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ที่จะลดการปล่อยคาร์บอน”
บริษัทรถยนต์ที่ได้พบครั้งนี้ได้มีการนำเสนอแผนให้คณะนายกรัฐมนตรีได้ทราบว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินลงทุนเกิดขึ้นในไทยรวมกันมากกว่า 150,000 ล้านบาท โดยมาจากโตโยต้าประมาณ 50,000 ล้านบาท ฮอนด้า 50,000 ล้านบาท อีซูซุประมาณ 30,000 ล้านบาท และมิตซูบิชิอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเหล่านี้มีอย่างน้อย 4 ราย เริ่มมีแผนการผลิต BEV ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มที่เป็นรถยนต์และรถกระบะ โดยเฉพาะรถกระบะไฟฟ้าบางรายจะเริ่มผลิตใน 2-3 ปีข้างหน้า ช่วงแรกจะมุ่งการผลิตเพื่อการส่งออก และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมก่อน ส่วนที่ขายในประเทศจะเน้นเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้รถยนต์เชิงพาณิชย์
ส่วนพานาโซนิคซึ่งเป็นผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในไทย ในครั้งนี้ได้เชิญชวนให้มาขยายการลงทุนในการผลิตโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และระบบกักเก็บพลังงาน ส่วนคูโบต้ามีแผนจะผลิตรถแทร็กเตอร์อีวี โดยในปีนี้จะเปิดตัวรถที่เป็นไฮบริดแทร็กเตอร์ในญี่ปุ่นและยุโรป ส่วนมิตซุย มีความสนใจในการผลิตน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน(SAF) ที่ทำจากไบโอแมส รวมทั้งน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว
“จะเห็นว่าบริษัทที่เราไปพูดคุยครั้งนี้ล้วนแล้วแต่มีความสนใจในธุรกิจที่จะนำไปสู่กรีนอีโคโนมีทั้งนั้น รวมถึงทุกรายยังพูดถึงเรื่องพลังงานสะอาดที่มีความจำเป็นต้องนำมาใช้ในโรงงานมากขึ้น ดังนั้นเราเองก็ได้ให้ความมั่นใจเขาว่าการที่มีฐานการผลิตในเมืองไทย ขอให้มั่นใจว่าเรามีแหล่งพลังงานสะอาดที่มากเพียงพอในการป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3951วันที่ 24 – 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566