จิสด้า ภายใต้สังกัดกระทรวงอุดมศึกษาหรือ อว. ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น”
เมื่อเวลา 9.00 น. ของวันที่ 28 ธันวาคม 2566 พบว่า พบเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพสีแดง 2 จังหวัด คือ สมุทรสาคร 76.3 ไมโครกรัม สมุทรสงคราม 75.3 ไมโครกรัม และ อีก 45 จังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้ม
ในขณะที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานในระดับสีส้มทุกเขต พบเขตที่สูงสุด 3 ลำดับ คือ บางกอกใหญ่ 67.4 ไมโครกรัม ตามด้วย ธนบุรี 65.8 ไมโครกรัม และหลักสี่ 64.9 ไมโครกรัม ตามลำดับ
แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 167 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่การเกษตร 69 จุด ตามด้วยพื้นที่ สปก. 38 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 27 จุด ชุมชนและอื่นๆ 23 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด และป่าอนุรักษ์ 2 จุด จังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ นครสวรรค์ 17 จุด สระบุรี 11 จุด และ ตาก 9 จุด
นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อน มากสุดอยู่ที่กัมพูชา 373 จุด ตามด้วย พม่า 272 จุด เวียดนาม 232 จุด และลาว 51 จุด ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"