"กฟผ."รุกต่อยอดพลังงานทดแทนเยอรมนีเพิ่มโอกาสการค้า-ลงทุน

29 ม.ค. 2567 | 01:19 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2567 | 05:29 น.

"กฟผ."รุกต่อยอดพลังงานทดแทนเยอรมนี เพิ่มโอกาสการค้า-ลงทุน หลัง ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเยี่ยมชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกเขื่อนสิรินธร

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เตรียมที่จะขยายโอกาสโอกาสทางการค้า การลงทุน และพลังงานระหว่างประเทศกับประเทศเยอรมนี 

ทั้งนี้ หลังจากที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากับดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

 

โดย กฟผ. ได้อธิบายภารกิจและข้อมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยีด้านระบบควบคุมของบริษัท ซีเมนส์ จำกัด จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

"กฟผ."รุกต่อยอดพลังงานทดแทนเยอรมนีเพิ่มโอกาสการค้า-ลงทุน

และเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของ กฟผ. ที่นำแสงอาทิตย์และน้ำซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) เพื่อลดข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดย กฟผ. ได้พัฒนาระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) เพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตไฟฟ้าได้นานขึ้น เสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ 

ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 37,600 ไร่ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรนั้น เป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดของ กฟผ. จากทั้งหมด 16 โครงการ ใน 9 เขื่อนทั่วประเทศ มีกำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน 

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี มีทางเดินชมธรรมชาติที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ ที่สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวม