KBank ชี้ไทยซื้อขายคาร์บอนน้อย ยังแค่ 300 ล้าน จี้รัฐหนุนเงินทุน-มาตรฐาน

28 ก.ค. 2567 | 01:05 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2567 | 01:16 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลการสำรวจตลาดคาร์บอนเครดิตไทย การซื้อขายยังอยู่ในระดับตํ่าเพียง 0.77 % ชี้อุปสรรคจากต้นทุนดำเนินการ ค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตสูง รายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน จี้รัฐให้ความรู้ เร่งพัฒนามาตรฐานให้เทียบเท่าระดับสากล และหนุนเงินทุน

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO / อบก.) เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย (KBank) และศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย พร้อมแนวโน้มตลาดในอนาคต ผ่านงานวิจัย “The 2024 Thailand’s Voluntary Carbon Market” เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณา เสนอแนะนโยบายส่งเสริม และผลักดันการพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยต่อไป

ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้ขึ้นทะเบียนโครงการจำนวนรวมทั้งสิ้น 438 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER จำนวน 434 โครงการ และแบบ Premium T-VER จำนวน 4 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต จำนวน 169 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 19.53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ขณะที่ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจประเทศไทย (TVERs) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึง 9 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณการซื้อขายสะสมรวมทั้งสิ้น 3.42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 299 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 146.49% เป็นการซื้อขายผ่านรูปแบบทวิภาค (Over-the-Counter-OTC) ตกลงราคากันเองระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย มีจำนวน 3.40 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลาดรองจากการซื้อขายผ่านศูนย์ FTIX Exchange มีจำนวน 13,665 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

KBank ชี้ไทยซื้อขายคาร์บอนน้อย ยังแค่ 300 ล้าน จี้รัฐหนุนเงินทุน-มาตรฐาน

ทั้งนี้ หากพิจารณาในส่วนของตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณซื้อขายคาร์บอนเครดิต อยู่ที่ 605,509 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่าการซื้อขายที่ 80 ล้านบาท มูลค่าเติบโตขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 132.08 บาทต่อตัน ซึ่งมองว่าตลาดจะมีโอกาสขยายตัวขึ้นอีก จากแรงกระตุ้นของร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ที่จะปรับใช้ในอนาคตนี้

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายที่เกิดขึ้น 77 โครงการ จาก 169 โครงการที่ไดรั้บรองคาร์บอนเครดิตทั้งหมด คิดเป็น 45.56% และมีการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อการชดเชยตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เพียง 1.75 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือมีเพียงสัดส่วน 8.98% ของคาร์บอนเครดิตที่ถูกรับรอง ส่งผลให้มีคาร์บอนเครดิต เหลือในระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต จำนวนกว่า 17.78 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในประเทศไทยปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถือว่ายังอยู่ในระดับตํ่า คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด โดยมีอุปสรรคที่สำคัญคือต้นทุนในการดำเนินการ รวมทั้งต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตสูง ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนา โครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ พบว่าคาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณ 7.24 แสนตันต่อปี ซึ่งสาขาที่มีความต้องการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ สาขาขนส่ง และสาขาการผลิต โดยสนใจซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทพลังงานทดแทน (RE)

อย่างไรก็ตาม คาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้ถือว่ามีความสำคัญ แต่จะมีการนำออกมาขายในตลาดน้อย เนื่องจากผู้พัฒนามีแนวโนม้ จะนำเครดิตจากโครงการไปใช้สำหรับชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง

ขณะที่มิติด้านราคา พบว่าผู้พัฒนาโครงการหรือผู้ขายคาร์บอนเครดิตยินดีที่จะขาย มีแนวโน้มสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อยินดีที่จะซื้อในทุกกลุ่มประเภทโครงการ ทั้งนี้ผู้ซื้อคาดว่าราคาคาร์บอนเครดิตจะเพิ่มสูงขึ้นจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ มาตรการสนับสนุนทางการเงิน และความต้องการของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

ส่วนการพัฒนาและสนับสนุนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจนั้น พบว่า ต้องการให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนปัญหาปัจจุบัน และประเด็นพัฒนาในอนาคต ซึ่งมาตรการสนับสนุนตลาดควรมุ่งเน้นไปที่ 2 ส่วน ได้แก่ 1.สนับสนุนผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด ที่ต้องการความรู้เกี่ยวกับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาโครงการ การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อขาย และ 2.พัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตในประเทศให้เทียบเท่าและได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงมีนโยบายภาคบังคับในการตรวจวัด รายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการคาร์บอนเครดิตและดึงดูดโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ขึ้นทะเบียนกับมาตรฐานอื่นหันมาลงทะเบียนกับมาตรฐานในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดที่เป็นกลุ่ม SMEs ต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนด้านความรู้และความช่วยเหลือทางการเงิน และสร้างแรงจูงใจโดยการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้พัฒนาโครงการ และมีกลไกอุดหนุนราคาคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ธุรกิจ SMEs เข้าร่วมในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจมากขึ้น