ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลผลการสำรวจ นำไปเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด สำหรับองค์กรและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยให้เห็นถึงสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย ภายใต้ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Project : T-VER) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึง 9 เดือนปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณการซื้อขาย จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,422,956 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า(tCO2eq) คิดเป็นมูลค่ากว่า 299 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 146.49% โดยการซื้อขายในตลาดแรกจากการซื้อขายผ่านรูปแบบทวิภาค ซึ่งเป็นการตกลงราคากันเองระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย มีจำนวน 3,409,291 tCO2eq และตลาดรองจากการซื้อขายผ่านศูนย์ FTIX Exchange มีจำนวน 13,665 tCO2eq
ทั้งนี้ สัดส่วนโครงการ T-VER ที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิตทั้งหมด 169 โครงการ มีการซื้อขายเกิดขึ้น 77 โครงการ และมีการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อการชดเชยตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เพียง 1,753,715 tCO2eq ส่งผลให้มีคาร์บอนเครดิตเหลือในระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิตกว่า 17,783,554 tCO2eq แต่ผู้ที่ถือครองคาร์บอนเครดิต เลือกที่จะถือครองไว้ในระยะยาวเพื่อมุ่งนำไปใช้ชดเชยก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง และเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าหรือผู้ถือหุ้น
จากผลการสำรวจสถานการณ์และแนวโน้มตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจประเทศไทยปี 2567 จำนวน 151 ราย ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ และอยู่ในสาขาการผลิต สาขาเกษตรและป่าไม้ ที่ปรึกษา สาขาพลังงาน และขนส่ง พบว่าเป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวด้านนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งกว่า 50% มีการดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว (Climate Action)
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ตลาดมีความต้องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจำนวน 724,700 tCO2eq ต่อปี และมีการชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิตเพียง 253,200 tCO2eq ต่อปี ส่งผลให้คาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการลดก๊าซเรือนกระจก 471,500 tCO2eq ต่อปี ซึ่งสาขาที่มีความต้องการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ สาขาขนส่ง และสาขาการผลิต ที่มีความตื่นตัวด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมสูง โดยสนใจซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทพลังงานทดแทน (Renewable Energy: RE) เพื่อนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง ส่วนคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้ มีการนำมาออกขายในตลาดน้อย เนื่องจากผู้พัฒนามีแนวโน้ม จะนำเครดิตจากโครงการไปใช้สำหรับชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง
ทั้งนี้ แนวโน้มของความต้องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะมีการเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการขององค์กรขนาดใหญ่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของการปรับใช้ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ 1-2 ปีข้างหน้า ที่จะต้องดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มงวดขึ้น
อีกทั้ง ในอนาคตคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจจะพิจารณาปรับเกณฑ์การรายงานเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เข้มงวดขึ้น เช่น การเพิ่มข้อบังคับในการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคงเหลือด้วยคาร์บอนเครดิตด้วยนั้น จะเป็นอีกแรงกระตุ้นที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดปริมาณความต้องการคาร์บอนเครดิตจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งสถิติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 15 ก.ค. 2567 พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 700 บริษัท มีเพียง 205 บริษัท ที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับราคาที่ต้องการซื้อและขายพบว่า ราคาที่ผู้พัฒนาโครงการหรือผู้ขายคาร์บอนเครดิตยินดีที่จะขายมีแนวโน้มสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อยินดีที่จะซื้อในทุกกลุ่มประเภทโครงการ โดยประเภทโครงการที่มีความนิยมสูงสามอันดับแรกได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และวัสดุเหลือใช้ และการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร จะมีความแตกต่างของราคายินดีซื้อและขายจำนวน 48% 20% และ 67% ตามลำดับ
ทั้งนี้ โครงการประเภท การลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร จะมีความแตกต่างของราคายินดีซื้อและยินดีขาย (Price Mismatching) มากที่สุด โดยส่วนใหญ่ต้องการขายที่ราคามากกว่า 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในขณะฝั่งผู้ซื้อต้องการราคาเพียง 51-100 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อคาดว่าราคาคาร์บอนเครดิตในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น 17% จากราคาที่ซื้อขายกันในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... การมีตลาดคาร์บอนภาคบังคับ มาตรการสนับสนุนทางการเงิน และความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่การพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจนั้น ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ผู้เล่นในตลาดปัจจุบันต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม โดยกลุ่มที่อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการ กระบวนการซื้อขาย มาตรฐานที่ต้องดำเนินการ การขึ้นทะเบียนโครงการและรับรองคาร์บอนเครดิต ส่วนผู้เล่นปัจจุบัน ต้องการให้ภาครัฐยกระดับมาตรฐาน T-VER ให้สามารถใช้ได้ในระดับสากล และออกหลักเกณฑ์ให้ภาคธุรกิจต้องตรวจวัดและลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการสนับสนุนด้านราคา ส่วนกลุ่ม SMEs ให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนทั้งในเรื่องเงินช่วยเหลือ และสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า เป็นสำคัญ