ESG Bond ไทยฮอต งวดครึ่งปีโต 22% ยอดแตะ7.3แสนล้าน 

31 ก.ค. 2567 | 04:37 น.
อัพเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2567 | 04:42 น.

ThaiBMA ชี้ ESG Bond โตพุ่ง 22% แตะ 7.3 แสนล้านบาท EXIM BANK เดินหน้าปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 7 หมื่นล้านบาทในปี 70 ด้าน KBANK มั่นใจเม็ดเงินสินเชื่อและเงินลงทุนยั่งยืน เพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท ในปี 73 ตามเป้าหมาย

รายงานข่าวจากสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ภาพรวมตลาด ESG Bond ได้แก่ Green bond, Social bond, Sustainability bond และ Sustainability-Linked Bond ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าคงค้างทั้งสิ้น 731,227 ล้านบาทคิดเป็น 4.30%ของตลาดตราสารหนี้รวม เพิ่มขึ้น 130,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.68% จากช่วงเดียวกันปี 2566 ที่มีมูลค่า 600,917 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.2%ของตลาด

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเป็น 70,000 ล้านบาทและจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเป็น 50%ของพอร์ตการปล่อยสินเชื่อรวมภายในปี 2570

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

"ธนาคารมีแนวคิดจะนำสินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารออมสินมาออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินสีเขียวได้ และให้เข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้เอสเอ็มอีตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม"นายรักษ์กล่าว  

“ยอมรับว่าผู้ที่มีกำลังทรัพย์ในการสร้างธุรกิจสีเขียว ส่วนมากจะเป็นคนตัวใหญ่ ฉะนั้น ธนาคารจึงจะนำต้นทุนเงินที่ตํ่ากว่าตลาด ผ่านซอฟต์โลนธนาคารออมสิน ที่คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ EXIM BANK ไปปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยตํ่า 2 ปีแรก 3.50%ต่อปี เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเอสเอ็มอี แลกกับการรักษากระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยคาร์บอน หรือการคัดแยกขยะก่อนที่จะรีไซเคิล” 

ESG Bond ไทยฮอต งวดครึ่งปีโต 22% ยอดแตะ7.3แสนล้าน 

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังได้ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรทางทะเล  (Blue Bond) สกุลเงินบาท วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 2.78% ต่อปี เพื่อระดมทุนไปสนับสนุนแหล่งเงินดอกเบี้ยตํ่า ให้กับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยวทางทะเล การประมง การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์นํ้า การจัดการและบำบัดนํ้าเสีย การรีไซเคิลขยะจากทะเล และพาณิชยนาวี  

ทั้งนี้การระดมทุนดังกล่าว จะนำมาดำเนินการปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะยาว คิดดอกเบี้ยตํ่าสุด 3.85%ต่อปี วงสูงสุด 200 ล้านบาท ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้วกว่า 11,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เอสเอ็มอี และธุรกิจเพื่อการส่งออกเข้าถึงสภาพคล่องต้นทุนตํ่า และตระหนักถึงความเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

นอกจากนั้น ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในโรงงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution) ด้วยการเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี ในเครือข่ายธุรกิจ (Supply Chain) ของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี ควบคู่กับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เครือข่ายธุรกิจของผู้ส่งออกสินค้า 

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการสนับสนุนทางการเงินผ่านการให้สินเชื่อและการลงทุุน โดยช่วงปี 2565-2566 ธนาคารได้ส่งมอบเม็ดเงินสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 73,397 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้ จะมียอดรวมเป็น 100,000 ล้านบาทและจะเพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 ตามเป้าหมาย 

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย

ทั้งนี้ธนาคารให้ความสำคัญในการควบคุมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน จึงมีการวางแผนกลยุทธ์รายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) ไปแล้ว 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติต้นนํ้า กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอลูมิเนียม 

“เรากำหนดนโยบายเครดิตด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตามหลักปฏิบัติสากลมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ กำหนดประเภทของสินเชื่อที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (Exclusion List) และกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector-Specific Guidelines) รวมทั้งมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อจะได้รับการจัดการด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ”นายพิพิธกล่าว 

สำหรับภาพรวมการแข่งขันจะพบว่า แนวโน้มตลาด Green Finance ของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่ธนาคารใหญ่หลายธนาคารได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการความเสี่ยงด้าน Climate Change และได้ประกาศเป้าหมายเงินสนับสนุน Green Finance เป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท  

ส่งผลให้ธนาคารมีการแข่งขันกันมากขึ้นในการให้บริการ Green Finance ทั้งในด้านการให้วงเงินที่สูงขึ้นต่อหลักประกัน การให้เทอมการชำระคืนเงินกู้ที่ยาวขึ้น ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ตํ่ากว่าการให้กู้ประเภทอื่น รวมทั้งความพยายามในการคิดค้นนวัตกรรมที่มากกว่าบริการทางการเงิน เพื่อส่งมอบโซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมที่ครบวงจรให้แก่ภาคธุรกิจ (Climate Solutions) 

ทั้งด้านการให้ความรู้ การให้คำปรึกษา การจัดทำ Carbon Accounting การทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิตและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง (Carbon Ecosystem) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านพร้อมรับมือกับแรงกดดันด้านกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมของโลกและไทยที่เพิ่มขึ้น และตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น มุ่งสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน 

“Green Finance เป็นบริการทางการเงินที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญในการปรับตัวไปสู่การเป็นธุรกิจรักษ์โลก ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของธนาคารและประเทศไทย(ธปท.)”นายพิพิธกล่าว 

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ประกาศ “วิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Krungsri Carbon Neutrality Vision) โดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 และจากบริการทางการเงินภายในปี 2593 พร้อมทั้งตั้งเป้าลดการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินให้เหลือศูนย์ภายในทศวรรษนี้ (2573) 

รวมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มการสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance Facility: SSF) เป็นจำนวน 50,000-100,000 ล้านบาทภายในปี 2573

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,014  วันที่  1-3 สิงหาคม  พ.ศ. 2567