Grab -การท่าเรือ-AOT ลุยขนส่งสีเขียว รัฐ-เอกชนแข่งลดโลกเดือด

01 ต.ค. 2567 | 22:06 น.

รัฐ-เอกชนลุยขนส่งสีเขียว ลดปล่อยคาร์บอนทำโลกร้อน “Grab” เร่งปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการเป็นรถ EV 10% ในปี 2569 พ่วงขยายใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ใน 5 จังหวัดใหญ่ “กทท.” มุ่งท่าเรือสีเขียว บูมขนส่งเชื่อมจีน-เมียนมา ขณะ AOTเล็งซื้อคาร์บอนเครดิดชดเชยสนามบินใช้ไฟฟ้าสูง

 ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ”

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวในหัวข้อเรื่อง “B2C : The Green Logistics ยานยนต์ไฟฟ้าทางเลือกการขนส่งแห่งอนาคต” ว่า เป้าหมายระดับภูมิภาคของ Grab ตั้งเป้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2040 แต่สำหรับแกร็บ ประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นไว้ในปี 2026 ภายใต้กลยุทธ์ 3R ประกอบด้วย

1.Reinforce : Grab ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างจริงจัง โดยมีแผนจะให้รถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุม 10% ของรถที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มภายในปี 2026 (2569) ในโครงการ Drive to Own ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้ผู้ขับขี่สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ ด้วยโมเดลสินเชื่อแบบรายวันและการช่วยเหลือด้านไฟแนนซ์

นอกจากนี้ Grab ยังร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์เพื่อจัดหารถยนต์ไฟฟ้า(EV) ในราคาที่เหมาะสมสำหรับผู้ขับขี่บนแพลตฟอร์ม รวมถึงการสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ IoT ในรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการขยายการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในระดับท้องถิ่น โดยได้ร่วมมือกับผู้ผลิตและผู้ให้บริการติดตั้งแบตเตอรี่ในหลายจังหวัด รวมถึงการวางจุดชาร์จไฟฟ้าตามจุดสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่ ล่าสุดได้ขยายการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไปยัง 5 จังหวัด/เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ พัทยา ขอนแก่น นครราชสีมา และภูเก็ต เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับท้องถิ่นและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม

2.Redesign : ปรับโมเดลธุรกิจของ Grab เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและขยะพลาสติกจากการให้บริการ โดยได้ริเริ่มระบบ Matching เพื่อรวมงานขนส่งในเส้นทางเดียวกัน ลดการใช้พาหนะจำนวนมากในการส่งของและผู้โดยสาร ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไปได้ถึง 27,000 ตันในช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งการเพิ่มการใช้เส้นทางที่มีประสิทธิภาพด้วยการใช้ระบบแผนที่และเทคโนโลยีการนำทาง ลดเวลาการเดินทางและการปล่อยก๊าซที่ไม่จำเป็น

และ 3.Reforest : Grab ได้เริ่มโครงการปลูกป่า โดยให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มมีส่วนร่วมในการบริจาคเงินเล็กน้อย ซึ่งเงินที่ได้จะนำไปปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าในพื้นที่ต่าง ๆ โดยได้ร่วมมือกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในการติดตามต้นไม้ทุกต้นที่ปลูก เพื่อให้มั่นใจว่าการปลูกป่ามีประสิทธิภาพและสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ผลสำเร็จที่ได้จากโครงการในช่วงปีที่ผ่านมา มีการปลูกต้นไม้ไปแล้วมากถึง 200,000 ต้น ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกระบี่ โดยจะยังคงขยายโครงการนี้ต่อไป

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการลดขยะพลาสติกในการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม ด้วยการให้ลูกค้าเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ผลจากการดำเนินการนี้ช่วยลดขยะพลาสติกได้มากถึง 800 ล้านชิ้นในปีที่ผ่านมา

นายวรฉัตร กล่าวอีกว่า จากการดำเนินกลยุทธ์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Grab สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 70,000 ตัน ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 280,000 ต้น และลดขยะพลาสติกได้มากกว่า 800 ล้านชิ้นจากการที่ลูกค้าเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติกในการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพื่อมุ่งสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า จุดแข็งของการขนส่งทางเรือ หัวใจ คือ การขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง หรือ ด้านโลจิสติกส์โดยรวมต่ำลง มีส่วนสำคัญต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

ปัจจุบันไทยมีท่าเรือภูมิภาคที่เชียงแสน เชียงของ ของ จ.เชียงราย และท่าเรือระนอง เป็นจุดกระจายการขนส่งโดยรอบของไทย วันนี้เสน่ห์ของไทยมีมากขึ้นหลังจากที่ท่าเรือของจีนตอนใต้ได้เปิดประตูเพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าจากจีนทางตอนใต้ ผ่านมายังมณฑลยูนนาน และมาไทยผ่านทางเชียงแสน ซึ่งปริมาณการขนส่งช่องทางนี้มีมากขึ้นหลังโควิดซาลง

ขณะที่ท่าเรือระนองซึ่งติดกับฝั่งทะเลอันดามัน วันนี้เติบโตขึ้นมาก เนื่องจากนโยบายก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ที่ใช้จังหวัดระนองเป็นจุดในการเชื่อมโยงทำให้เกิดความสนใจ ท่าเรือระนองจากที่เคยเงียบเหงาไปนับตั้งแต่ก่อสร้าง วันนี้กลับมามีชีวิตชีวา และนักลงทุนสนใจมาก

ผลพวงอีกประการหนึ่ง จากประเทศเพื่อนบ้านคือเมียนมามีปัญหาในประเทศ ทำให้การขนส่งสินค้าทางถนนไม่สะดวก ดังนั้นการขนส่งสินค้าที่ใกล้ที่สุดก็คือ การขนส่งผ่านท่าเรือระนองเข้าไปในเมียนมา อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจเอเชียตอนใต้ ซึ่งจะเป็นการนำร่องให้กับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยอีกทางหนึ่ง ซึ่งการท่าเรือฯ พยายามที่จะพัฒนาท่าเรือระนองในอีกมิติหนึ่ง ที่มุ่งในเรื่องของทั้งเศรษฐกิจและการเป็นท่าเรือสีเขียวควบคู่กันไป

ขณะที่นายจักรภพ จรัสศรี ที่ปรึกษา 10 สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท. / AOT) กล่าวว่า ทอท.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และกำลังมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดย Net Zero ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งนี้ปัญหาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสนามบินคือ การใช้พลังงาน เพราะสนามบินต้องใช้ไฟฟ้ามากในการทำความเย็น ทำความร้อน และหล่อเลี้ยงระบบต่าง ๆ

ที่ผ่านมา AOT ได้ทำการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาหลายปี และพบว่าส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานโดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และในอนาคตอาจจะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยส่วนที่ลดไม่ได้