คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทคจำนวน 4 ชุด ประกอบด้วยอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง อนุกรรมการด้านกฎหมาย อนุกรรมการด้านเทคโนโลยีและอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีกรอบเวลาให้หาข้อสรุปเสนอบอร์ด กสทช.เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่
ล่าสุดมีรายงานว่าอนุกรรมการได้ส่งรายงานเสนอให้คณะทำงานประสานที่มี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช.และรักษาการเลขาธิการกสทช.แล้ว โดยคาดว่าอนุกรรมการประสานชุดดังกล่าวจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กสทช.ภายในสัปดาห์หน้าราว วันที่ 26-27 ก.ค.นี้ เป็นไปตามกรอบเวลาที่บอร์ดได้ให้สำนักงานกสทช.และคณะทำงานฯไปดำเนินการ โดยตามเดิมต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วันหลังจากบอร์ดมีมติไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565
อนุกรรมการง 4 ชุด ค้านควบรวม”ทรู-ดีแทค”
ทั้งนี้ อนุกรรมการทั้ง 4 ชุด มีความเห็น ส่วนใหญ่ 3:1 ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทค โดย 3 อนุกรรมการที่คัดค้านประกอบด้วย อนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ และอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี ส่วนอนุกรรมการด้านกฎหมายเป็นชุดเดียวที่เห็นด้วย
หลังจากที่อนุกรรมการทั้ง 4 ชุดได้ส่งรายงานให้แก่คณะทำงานฯชุดของนายไตรรัตน์แล้ว คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กสทช.ภายในสัปดาห์หน้าราววันที่ 26-27 ก.ค.นี้ โดยจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่บอร์ดได้ให้สำนักงานกสทช.และคณะทำงานฯไปดำเนินการ โดยตามเดิมต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วันหลังจากบอร์ดมีมติไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565 แต่ทางสำนักงาน กสทช.อ้างว่ารายงานของอนุฯทั้ง 4 ชุดมีจำนวนมาก ที่ปรชุมบอร์ด กสทช.จึงแต่งตั้งคณะทำงานประสานฯขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อสรุปและรวบรวมความเห็นอีกครั้ง
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความกังวลว่า สำนักงาน กสทช.ที่เป็นผู้รวบรวมผลการศึกษาเพื่อนำเสนอบอร์ด กสทช.กำลังมีความพยายามตกแต่งถ้อยคำและบิดเบือนความเห็นของอนุกรรมการศึกษาฯ โดยไฮไลท์ข้อดีของการควบรวมเพื่อชี้ให้เห็นว่า อนุกรรมการทุกชุดมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรอนุญาตให้ควบรวม หรือหากจะมีการตั้งข้อสังเกตก็เป็นเพียงข้อห่วงใยที่ต้องให้ กสทช. จัดทำบันทึกแนบเท่านั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดจากเจตนารมร์ของอนุกรรมการศึกษา ซึ่งแม้จะมีมติไม่เอกฉันท์ แต่ถือว่าเสียงส่วนใหญ่ได้คัดค้านการควบรวมครั้งนี้
อนุฯเศรษฐศาสตร์ ชี้จีดีพีลดลง 3 แสนล้าน
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมด้านเศรษฐศาสตร์ สรุปผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการควบรวมทรู-ดีแทค โดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (CGE Model) ว่า หากมีการควบรวม จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP growth) ลดลงตามระดับราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น โดยช่วงที่จีดีพีติดลบจะอยู่ระหว่าง 0.05-1.99% ซึ่งกรณีดีที่สุด คือ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10% และไม่มีการร่วมมือกันระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ (No collusion) จีดีพีจะลดลง 0.05% หรือคิดเป็นมูลค่า 8,243.9 ล้านบาท แต่กรณีเลวร้ายที่สุด คือ ประสิทธิภาพไม่เพิ่มขึ้น และมีการร่วมมือกันในระดับสูง (Cartel) จีดีพีจะลดลง 1.99% หรือคิดเป็นมูลค่า 322,892.1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ค่าบริการสื่อสารไร้สายที่จะเพิ่มขึ้นหลังการควบรวมทรู-ดีแทคจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.05-2.07% โดยระดับความรุนแรงของผลกระทบกรณีการควบรวมจะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ
ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพมีผลน้อย ในขณะที่ระดับความร่วมมือของผู้ประกอบการจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ยิ่งเหลือน้อย ยิ่งร่วมมือกันง่าย , ยิ่งขนาดใกล้เคียงกันเท่าไรยิ่งร่วมมือกันง่าย และสุดท้ายอยู่ที่ประสิทธิภาพการกำกับดูแลของ กสทช.
อนุฯคุ้มครองชี้ผู้บริโภครับกรรม!
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า หากมีการอนุญาตให้ควบรวมทรู-ดีแทคจะส่งผลกระทบต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ซัพพลายเออร์ และเอกชนที่ทำธุรกิจกับค่ายมือถือทั้ง 2 ค่าย เช่น SMS content หรือ content partners ต่างๆ แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ใช้บริการหรือประชาชนที่เป็นลูกค้า เพราะมีรายงานผลการศึกษาว่า ค่าบริการอาจแพงขึ้น 20% จากการที่ธุรกิจโทรคมนาคมมีการผูกขาด เพราะจะมีผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย
“ถามว่าผู้บริโภคจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร เพราะเมื่อของมีจำกัด แต่มีแค่ 2 รายใหญ่ ที่ขายสินค้าในตลาด แล้วราคาอาจจะแพงขึ้น 20% และเราจะไม่ใช้ ก็ไม่ได้ เพราะถ้าจะไปเลือก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติหรือ เอ็นที ก็มี MVNO (ผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน) มาเสนอข้อมูลให้ฟังว่าเอ็นทีมีเฉพาะบริการ 3G เท่านั้น ไม่มี 4G และ 5G ถ้าใครอยาก ก็ต้องไปผูกขาดกับ 2 รายใหญ่เท่านั้น ดังนั้น ลูกค้าจึงมีอำนาจในการปกป้องตัวเองต่ำ”
ส่วนที่มีการโต้แย้งว่า ที่นักวิชาการพูดมาและที่ผู้บริโภคเสนอมา เป็นแค่การคาดการณ์ทางทฤษฎี แม้ว่าตรงนี้จะยังไม่สิ่งที่ไม่เกิดขึ้น แต่มีสิ่งที่ต้องหา คือ โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีมากน้อยอย่างไร ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า หลักการพยากรณ์ที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่การมโน ไม่ใช่การคาดการณ์ล้วนๆ แต่มีหลักวิชาการ และมีตัวอย่างในต่างประเทศรองรับ
นวัตกรรมสร้างเองได้ไม่เกี่ยวควบรวม
สำหรับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯด้านเทคโนโลยีระบุไว้ว่า กรณีไม่อนุญาตให้ควบรวมทรู-ดีแทค จะส่งผลให้ ดีแทคซึ่งมีความถี่และความจุโครงข่ายต่ำ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรองรับความต้องการของลูกค้า เป็นเหตุให้ดีแทคต้องลงทุนเพิ่มเติม หากต้องการประกอบกิจการต่อไป เพื่อเพิ่มความจุในการรับ-ส่งข้อมูล และใช้เทคโนโลยีที่ใช้คลื่นความถี่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Multi operator core network (MOCN)
นอกจากนี้ กสทช.อาจเห็นสมควรให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายโดยเปิดให้ผู้ประกอบการต่างราย สามารถร่วมใช้คลื่นความถี่เดียวกันได้ ดังนั้น หากดีแทคไม่ลงทุนเพิ่มเติมจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ประกอบกับการเกิดนวัตกรรมหรือบริการรูปแบบใหม่ๆ เช่น เมตาเวิร์ส รถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทพึงดำเนินการ หรือเป็นมาตรการที่ กสทช.ควรส่งเสริม ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรวมธุรกิจแต่อย่างใด
อีกทั้ง หากไม่อนุญาตให้ควบรวม การแข่งขันในตลาดก็ไม่ลดลง เนื่องจากบริษัททั้ง 3 ไม่มีประโยชน์ร่วมกัน และจำเป็นต้องทำธุรกิจต่อไป โดยที่บริษัทดีแทคไม่ได้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แต่อย่างใด ขณะที่ทรูกับเอไอเอส มีให้บริการดังกล่าว ดังนั้น ดีแทค จำเป็นต้องนำเสนอบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว จึงต้องมีอัตราค่าบริการที่จูงใจ และจะยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด เพราะแม้ว่าจะมีบริการอื่นๆ เสริมแต่อย่างไรก็ตาม บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังถือเป็นบริการหลักที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานและสัดส่วนรายได้สูงสุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
กสทช.มองไม่เห็นอำนาจของตัวเอง
ขณะที่อนุกรรมการศึกษาด้านกฎหมายส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทค โดยอ้างข้อจำกัดของกฎหมายกำกับดูแล และประกาศ กสทช.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่กระนั้น นายกนกนัย ถาวรพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ในอนุกรรมการเสียงข้างน้อยก็มีความเห็นแย้งว่า ในด้านประเด็นความคลุมเครือเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.สามารถตีความมาตรการในข้อนี้ ให้รวมถึงคำสั่งห้ามการควบรวมได้
อีกทั้งกฎหมายในข้อนี้เพียงยกตัวอย่างมาตรการเฉพาะที่ กสทช. สามารถกำหนดได้เพื่อรักษาการแข่งขัน สังเกตได้จากข้อความว่า “มาตรการเฉพาะตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง…” กสทช.จึงสามารถกำหนดมาตรการเฉพาะอื่นใดรวมทั้งการสั่งห้ามการควบรวมเพื่อรักษาการแข่งขันในตลาดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ข้อ 8 ของประกาศ 2549 (ประกอบข้อ 5 และ 9 ประกาศ 2561) ยังให้อำนาจ กสทช. ห้ามการควบรวมหรืออนุมัติแบบมีเงื่อนไข สำหรับการควบรวมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการประเภทเดียวกัน (เช่น ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และการเชื่อมต่อโครงข่าย เช่นเดียวกัน) ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือผ่านตัวแทนก็ตาม