นักวิชาการรุมสับโมเดล กสทช. ควบรวมทรู-ดีแทค ยันมีประกาศคุมเพดานค่าบริการ

08 มิ.ย. 2565 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 17:20 น.

นักวิชาการรุมสับงานโฟกัสกรุ๊ป รอบ 3 เสนอโมเดลควบรวม “ทรู-ดีแทค” สุดซอย-ตกขอบ หลายข้อมูลคลาดเคลื่อน อ้างทำค่าโทรพุ่งกระทบจีดีพี ชี้นำสังคมสร้างความสับสน ยันมีประกาศปี 63 คุมเพดานคิดค่าบริการไว้ แนะกสทช.ชุดใหม่ต้องรีบรีวิวกฎ ระเบียบ กู้คืนความน่าเชื่อถือด่วน

ศ.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ อดีตประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  นักวิชาการด้านโทรคมนาคม  กล่าวถึงกรณีที่มีโมเดลเศรษฐศาสตร์ของนักวิชาการต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด หรือ Focus Group กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อโมเดลดังกล่าวจากนักวิชาการอย่างมาก มีหลายประเด็นที่ยังนำปัจจัยมาวิเคราะห์ไม่ครบถ้วน

 

โดยเฉพาะประเด็นการไม่พิจารณาบทบาท กสทช. ในการควบคุมราคา และ การตั้งสมมุติฐานว่า เอไอเอส จะฮั้วกับทรู ดีแทค เพราะไม่มีกสทช.กำกับดูแล 


 

 “แม้การวัดด้วยวิธีการเศรษฐศาสตร์เป็นวิธีการที่ทั่วโลกยอมรับ แต่อัตรา HHI (อัตราส่วนการกระจุกตัว) สูงแค่ไหน จุดสำคัญอยู่ที่มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามี กสทช.ที่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมราคา ทำไมไม่นำมาเป็นปัจจัยในการคำนวณโมเดลด้วย จึงอาจทำให้ผลการศึกษานี้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาก 

                                          นักวิชาการรุมสับโมเดล กสทช. ควบรวมทรู-ดีแทค ยันมีประกาศคุมเพดานค่าบริการ
และยังเป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจผิด ว่าหากปล่อยให้ควบรวมกันแล้วคนไทยจะต้องเสียค่าบริหารที่แพง ซึ่งปัญหานี้เรามีประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ( 2 ธ.ค.2563 ) มีการกำหนดอำนาจในการกำกับดูแลและควบคุมราคา ซึ่งมีเพดานราคาไว้ชัดเจน หากเกินกว่าราคาที่กำหนด คือ ผิดกฎหมาย 

ดังนั้น ผลการศึกษาที่นำเสนอนี้ ถือว่าคลาดเคลื่อนชนิดที่เรียกว่า “โมเดลตกขอบ” และกสทช.ชุดใหม่ต้องรีบรีวิวกฎ ระเบียบ ที่ต้องใช้อ้างอิงในการปฏิบัติหน้าที่ มิเช่นนั้น จะทำให้หน่วยงานกำกับ ขาดความน่าเชื่อถือได้” 


ทั้งนี้ ประกาศของกสทช.ฉบับดังกล่าว ได้กำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลักได้ ระบุเพดานการกำกับ ควบคุมราคาไว้ชัดเจน โดย แบ่งอัตราขั้นสูงของค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก ใช้บังคับกับบริการ ดังนี้ 


(1) บริการเสียง  (2) บริการข้อความสั้น  (3) บริการข้อความมัลติมีเดีย (4) บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ โดยในข้อ 6 ได้กำหนดหน้าที่ กสทช.ว่า ให้ตรวจสอบอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งาน ของรายการส่งเสริมการขายหลักที่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอยู่ในตลาดเป็นประจำทุกเดือน 


โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบ โดยอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลักในแต่ละประเภทบริการ ต้องเป็นไปตามอัตราขั้นสูงของค่าบริการที่กำหนดไว้ในภาคผนวกท้ายประกาศ  
                             นักวิชาการรุมสับโมเดล กสทช. ควบรวมทรู-ดีแทค ยันมีประกาศคุมเพดานค่าบริการ
 
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด นักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ ที่เข้ารับฟัง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในแง่มุมที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นต่างจากผลการศึกษาของ กสทช. โดยมองว่า การนำเสนอของ กสทช. ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังขาดข้อมูลอีกหลายมิติ ที่แสดงให้เห็นว่า การควบรวมกิจการไม่ได้เป็นผลเสียเพียงด้านเดียว รวมถึงราคาไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะ กสทช. มีหน้าที่ควบคุมดูแลอยู่แล้ว แต่การควบรวมจะทำให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ 

 

นอกจากนี้ การทำโฟกัสกรุ๊ปที่ถูกต้อง ต้องเป็นการเปิดให้แสดงความคิดเห็น ไม่ควรมีการนำโมเดลผลการศึกษามานำเสนอก่อน และใช้เวลามากถึงชั่วโมงครึ่ง ถือเป็นการชี้นำ 


โดยการศึกษาของ กสทช. ที่มีช่องโหว่มากมาย ทำให้นักวิชาการต่างออกความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า โมเดลที่นำมาเสนอมีหลายปัจจัยที่ กสทช. เลือกที่จะไม่นำมารวม และทำให้ชี้นำสังคมในทางสับสนได้ ซึ่งการทำโฟกัสกรุ๊ป ควรรับฟังความเห็นจากนักวิชาการที่มาร่วมประชุม และบันทึกไปเพื่อความเป็นกลาง ตรงกับหลักการทางวิชาการ เพื่อนำผลการโฟกัสกรุ๊ปไปใช้วิเคราะห์ได้ต่อไป