ย้อนปมร้อนควบรวม “TRUE-DTAC" โจทย์ใหญ่ กสทช.-กฤษฎีกา ป้องกันการผูกขาด

14 ก.ย. 2565 | 03:22 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 15:56 น.

ย้อนปมร้อน ควบรวม “TRUE-DTAC" หลัง กสทช.ชงเรื่องถึง รักษาการนายกรัฐมนตรี ส่งไม้ต่อให้ กฤษฎีกาฯ ถกประเด็นข้อกฏหมาย บทบาท มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และอำนาจหน้าที่ป้องกันการผูกขาด

วันที่ 14 กันยายน 2565 จากกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องจากสำนักงานคณะกรรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อหารือข้อกฏหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ข้อกฎหมายการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา พิจาราณาในเรื่องนี้

 

ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กรณีควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC   ซึ่งการประชุมครั้งนี้เพื่อขอความคิดเห็นกับ คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความคิดเห็นด้านกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช.

 

ประเด็นหลักที่กสทช.ได้ส่งหนังสือหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งนี้ คือ มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และอำนาจหน้าที่ป้องกันการผูกขาดของกสทช. 

 

เปิดเอกสาร กสทช. หารือขอกฎหมาย “TRUE-DTAC”

  • เนื่องด้วย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้มีหนังสือ ที่ สทช 2402/23454 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช.ในกรณีเกี่ยวกับการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัท ทรูฯ) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเช็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัท โทเทิ่ลฯ) เพื่อให้การพิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับการรวมธุรกิจเป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย
  • รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือ ที่ นร .408/106 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 โดยเห็นว่า ประเต็นที่ สำนักงาน กสทช. หารือ มานี้ เป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. โดยเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2553

 

 

TRUE-DTAC

รวมทั้งปรากฎข้อเท็จจริงว่าประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2565 ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการรวมธุรกิจที่เป็นประเด็นหารือนี้ มีการฟ้องเพิกถอนเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งตามข้อ 9 (1) แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกาพ.ศ. 2522 กำหนดว่ากรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้อง เป็นคดีอยู่ในศาล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) จึงไม่อาจรับข้อหารือนี้ไว้พิจารณาได้

 

รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 ในการนี้ มีดังนี้

1. ขณะนี้มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลเป็นคดีปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ระหว่าง นายณภัทร วินิจฉัยกุล ผู้ฟ้องคดี กับ กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องสอดที่ 6 โดยผู้ฟ้องคดีคำขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2565 นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และขอให้ทุเลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

 

ซึ่งเป็นการฟ้องร้องเกี่ยวกับสถานะของประกาศฉบับดังกล่าวที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป และปัจจุบันศาลปกครองมีคำสั่งไม่ทุเลาการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ ดังนั้น จากคำสั่งไม่ทุเลาการบังคับใช้ประกาศของศาลปกครองดังกล่าว กสทช. จึงมีหน้าที่และอำนาจต้องดำเนินการพิจารณากรณี การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

2. กสทช. มีความจำเป็นที่จะหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายที่มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ

 

ประกอบกับการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมของประเทศ และการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้บริโภค รวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายภาคส่วน ประกอบกับเป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อกรณีเกิดปัญหาในการแปลความและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำผลการพิจารณาและความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบการพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินการทุกขั้นตอนเกี่ยวกับการรวมธุรกิจให้เป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย และสอดรับกับระยะเวลาเร่งรัดที่ กสทช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

 

3. สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่ยังคงประสงค์จะหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกามีดังต่อไปนี้

    3.1 หากการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI)มากกว่า 2500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องนั้น จะถือว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และ 2549 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 หรือไม่อย่างไร และ กสทช. ต้องพิจารณาต่อรายงานการรวมธุรกิจในกรณีนี้อย่างไร

3.2 กสทช. สามารถยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ภายหลังจากที่บริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ยื่นรายงานการรวมธุรกิจแล้วได้หรือไม่ และจะมีผลต่อการรวมธุรกิจอย่างไร

3.3 ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดว่า "การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549" มีความหมายอย่างไร

และหากปรากฎว่าการรวมธุรกิจจะทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมแล้ว กสทช. จะมีอำนาจในการนำประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม มาใช้เพื่อประกอบการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกรณีนี้ได้เพียงใด และ กสทช. สามารถนำประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมีให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2549 มาใช้บังคับกับการรวมธุรกิจได้หรือไม่ เพียงใด และมีอำนาจพิจารณาในการสั่ง "อนุญาต" หรือ "ไม่อนุญาต" การรวมธุรกิจ และหรือมีคำสั่งอย่างอื่นได้หรือไม่เพียงใด

 

3.4 ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมข้อ 9 กำหนดว่า "การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549"

และโดยที่ข้อ 12 ของประกาศฉบับเดียวกันกำหนดให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ หากรายงานการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง

TRUE-DTAC

 

 

 

ทั้งนี้ กสทช.อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจากที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 9 ประกอบกับข้อ 12 ดังกล่าวข้างต้นจะถือว่าเป็นการมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ กสทช. ตามมาตรา 27 (11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเดิม และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ให้เลขาธิการ กสทช. หรือไม่และจะมีผลประการใด และจะเป็นการกระทบต่อหลักการป้องกันมีให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายและประกาศเกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร

 

3.5 หากกรณีการกำหนดประกาศตามข้อ 9 และข้อ 12 มิใช่การมอบอำนาจให้เลขาธิการ กสทช. กรณีเช่นนี้ ระยะเวลาการใช้อำนาจพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องอยู่ภายใต้ระยะเวลา 60 วัน ตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม หรือไม่ประการใด

3.6 ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม สามารถขยายระยะเวลาการดำเนินการโดยอาศัยตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้หรือไม่ อย่างไร ในการนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 9 แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522

 

จึงขอความอนุเคราะห์ นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้รักษาการ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553  โปรดพิจารณาเพื่อสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ตามข้อ 3 เพื่อที่ กสทช. จะได้พิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในกรอบระยะเวลาเร่งรัดที่กฎหมายกำหนดต่อไป

 

ล่าสุดมีรายงานว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา และมีความเห็นตอบข้อหารือดังกล่าวแล้ว