พม.-ดีแทค เน็ตทำกิน ชูดิจิทัลเชื่อมต่อภูมิปัญญานำร่อง 24 หมู่บ้าน 7 ชนเผ่า

18 ส.ค. 2565 | 08:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2565 | 15:18 น.

พม. จับมือดีแทค เน็ตทำกิน ชูดิจิทัลเชื่อมต่อภูมิปัญญานำร่อง 24 หมู่บ้าน 7 กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองพื้นที่สูง ตั้งเป้าเพิ่มรายได้สูงสุด 50%

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) และดีแทค ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองสู่ผู้ประกอบการออนไลน์ เผยคัดเลือกหมู่บ้านบนพื้นที่สูงที่มีผลิตภัณฑ์ชุมชนโดดเด่นนำร่องเข้ารับการอบรมโครงการ จำนวน 24 หมู่บ้าน ครอบคลุม 7 ชนเผ่าพื้นเมือง พัฒนาสู่ผู้ประกอบการมืออาชีพ หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของราษฎรบนพื้นที่สูง และร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าครอบคลุมมากกว่า 20 กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงใน 3 ปี

พม.-ดีแทค เน็ตทำกิน ชูดิจิทัลเชื่อมต่อภูมิปัญญานำร่อง 24 หมู่บ้าน 7 ชนเผ่า

9 สิงหาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมโลก (International Day of the World’s Indigenous Peoples) โดยปีนี้ สหประชาชาติได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ชนเผ่าหรือชนพื้นเมืองทั่วโลกที่ทำงานมี 47% ที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เทียบกับกลุ่มแรงงานอื่นจะมีเพียง 17% โดยจะยิ่งเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มชนเผ่าเพศหญิงอีกด้วย นอกจากนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกมากกว่า 86% ทำงานในระบบเศรษฐกิจนอกระบบ เทียบกับกลุ่มแรงงานที่ไม่ใช่ชนเผ่ามีจำนวน 66% และมีข้อสรุปว่ากลุ่มชนเผ่าจะยากจนรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นถึง 3 เท่า  สำหรับประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากกว่า 6 ล้านคน จาก 70 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งกระจายอยู่ใน 67 จังหวัดตามภาคต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ และทางภาคใต้

นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยว่า พม. หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เดินหน้านำยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ด้วยการนำ SOFT POWER  ที่เป็นอัตลักษณ์ และวิถีชนเผ่า มาสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงให้แก่ชนเผ่าพื้นเมือง ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มราษฎรบนพื้นที่สูง ทั้งหมด 24 กลุ่มหรือหมู่บ้าน ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุทัยธานี น่าน และพะเยา เพื่อสร้างโอกาส ความเสมอภาค และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

พม.-ดีแทค เน็ตทำกิน ชูดิจิทัลเชื่อมต่อภูมิปัญญานำร่อง 24 หมู่บ้าน 7 ชนเผ่า

โดยกำหนดแผนที่จะสร้างกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองให้กลายเป็น “ผู้ประกอบการออนไลน์” สร้างอาชีพทางเลือก ส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์พื้นบ้านท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เข้าถึงง่ายทั่วทุกมุมโลก ภายใต้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย 4.0 E-Marketing จึงได้ร่วมมือกับดีแทค เน็ตทำกิน ในการพัฒนาทักษะแก่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มชนเผ่าสูงสุด 50% โดยทาง พม. จะเสริมการอบรมกับกลุ่มชนเผ่าในเรื่องการจัดการธุรกิจ อาทิ การทำบัญชี การสร้างมาตรฐานสินค้าสู่โอทอป (OTOP) หรือการขอจดทะเบียน อย. เป็นต้น

นายสตีเฟ่น เจมส์ แฮลวิก รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่าดีแทคดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชากรเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ เพศ ภูมิลำเนา ฯลฯ ซึ่งธุรกิจโทรคมนาคมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และคุณภาพชีวิตด้วยโมบายล์เทคโนโลยี

 

ความร่วมมือกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการแสดงถึงการดำเนินงานของดีแทคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีแก่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ผ่านโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” สร้างทักษะดิจิทัลสำหรับการประกอบธุรกิจและการตลาด เมื่อผนวกรวมกับแผนงานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการที่เน้นเสริมศักยภาพกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองให้เป็นชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดีแทค เน็ตทำกินมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40-50% และก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างโอกาสหาเลี้ยงชีพใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้ เรายังเสริมโครงการอบรมสร้างทักษะวิทยากร (train-the-trainer) เพื่อช่วยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่กลุ่มชนเผ่าอื่นๆ อีกด้วย”

พม.-ดีแทค เน็ตทำกิน ชูดิจิทัลเชื่อมต่อภูมิปัญญานำร่อง 24 หมู่บ้าน 7 ชนเผ่า

สู่เป้าหมายทีมดีแทค เน็ตทำกิน เดินหน้าติดอาวุธทักษะทางดิจิทัลให้กับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง

•             เพิ่มรายได้ 15-20% ต่อราย/กลุ่ม หลังจากผ่านการอบรมไปแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งในระหว่าง 6 เดือนนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถได้รับการอบรม (coaching) เพิ่มจากโค้ชทีมดีแทค เน็ตทำกินได้อย่างต่อเนื่องผ่านทาง Line และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอด เช่น Live talks เป็นต้น

•             เพิ่มทักษะทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น วัดจากแบบสอบถามที่แบ่งทักษะทางดิจิทัลเป็นระดับเบื้องต้น (beginner) ระดับกลาง (intermediate) และระดับสูง (advance) ในมิติต่างๆ เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อโปรโมทสินค้าและสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง สามารถใช้ช่องทางขายออนไลน์ แพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันเพื่อบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น

•             เพิ่มทักษะและความมั่นใจในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยวัดจากแบบสอบถามที่มีตัวชี้วัดในมิติต่างๆ เช่น เริ่มมีเงินออม เริ่มปลดหนี้ได้ และเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ เป็นต้น

 

เสียงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองสะท้อนวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของคนพื้นที่สูงสู่ผู้ประกอบการออนไลน์

 

นางสาวลภาวัน เซมือ หรือ นี หนึ่งในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่มีภูมิปัญญาด้านงานฝีมือที่เป็นเสน่ห์ของชาวอาข่า อาทิ เสื้อชนเผ่า กระเป๋า ย่ามทำมือ และสร้อย สะท้อนความรู้สึกในการทำมาหากินว่าเมื่อก่อนได้ผลิตสินค้าของชนเผ่าอาข่าที่ทำเอง แต่ไม่รู้เรื่องการทำตลาด ยิ่งการทำตลาดออนไลน์ยิ่งไม่รู้จะเริ่มอย่างไร แต่ได้มาร่วมโครงการฝึกทักษะผู้ประกอบการกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และดีแทค เน็ตทำกิน โดยได้เดินทางมาจากดอยแม่สลองขี่มอเตอร์ไซค์มาคนเดียวกว่า 30 กิโลเมตร เพื่อร่วมโครงการ ตอนนี้ได้รู้จักแพลตฟอร์มออนไลน์ ไลฟ์ขายผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้ยิ่งขายสินค้าได้มากขึ้นโดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือที่เรามาทำเป็นกระโปรงอาข่า เสื้อผ้าทอ ปลอกขาต่างๆ จะขายดี

 

นางสาวพงสุต กาญจนาบรรพต หรือตู่ จากกลุ่ม “กะเหรี่ยง” ชนเผ่าพื้นเมือง จ.เชียงราย หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมผู้ประกอบการออนไลน์เล่าว่าสินค้าของทางกลุ่มจะเป็นผ้าทอชนเผ่าชาวกะเหรี่ยง หรือ “ปกาเกอะญอ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มและแฝงความเชื่อทางมูเตลู เช่น ผ้าทอสีแดงใช้แล้วจะมีเงินทองไหลมาเทมา ผ้าทอสีชมพูจะเพิ่มความสุขสดใสให้กับชีวิตของผู้สวมใส่ โดยการเข้าร่วมฝึกทักษะกับดีแทค เน็ตทำกินนอกจากจะเข้าใจเรื่องขายสินค้าออนไลน์ การถ่ายภาพให้สวยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและทำให้ความรู้เรื่องผ้าของชนเผ่าได้ถูกถ่ายทอดผ่านเพจไม่เลือนหาย และเป็นแหล่งรายได้นอกเหนือจากการทำอาชีพเพาะปลูก

 

นายโสภณ แซ่ลี หรือที่ชุมชนเรียกว่าลุงเอจ้อย ให้ความคิดเห็นว่าการเพิ่มทักษะออนไลน์ช่วยเปิดตลาดใหม่ให้กับชุมชนมากกว่า 40 คน ซึ่งทำอาชีพเครื่องเงินที่บ้านขุนแม่บง โดยก่อตั้งมาราว 20 ปี เมื่อก่อนจะขายสินค้าผ่านช่องทางการท่องเที่ยวและคนที่เดินทางไปต่างประเทศ แต่พอวิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอดขายสินค้าหายไป ซึ่งพยายามนำพวกเครื่องประดับเครื่องเงินพวก สร้อย แหวน กำไลมาจำหน่ายผ่านร้านค้า หรือออกบูธตามงาน พอได้มาอบรมกับโครงการนี้ ทำให้เข้าใจการทำตลาดออนไลน์และนำไปต่อยอดขายทำเพจเฟซบุ๊กเครื่องเงินบ้านขุนแม่บง ซึ่งเป็นช่องทางช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกของชุมชน

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองสู่ผู้ประกอบการออนไลน์ ของดีแทค เน็ตทำกิน ได้มุ่งสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายร่วมสมัย ในการนำดิจิทัลผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิม สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการตามความถนัดอัตลักษณ์ชุมชน ด้วยจุดเด่นของตนเองอย่างมีศักยภาพ ตอบสนองต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย