วันนี้ 30 สิงหาคม 2565 ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการตลาด กล่าวถึงกรณีที่ ศ.(คลินิก) นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ) จัดระเบียบการประชาสัมพันธ์ พร้อมให้เลขาธิการ กสทช. เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงการเผยแพร่ข่าว “5 Facts กรณีควบรวม TRUE-DTAC "ที่ต่อมามีการลบข่าวและข้อมูลดังกล่าวออกจากเฟสบุ๊คเพจของ กสทช. หลังจากมีผู้เผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหลายสำนัก เนื่องจากข้อเท็จจริง กสทช.ยังไม่เคยมีมติ และยังไม่เคยเห็นชอบข้อมูลที่นำมาประชาสัมพันธ์ ว่าถือเป็นการจัดระเบียบด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อไม่ให้สังคมสับสน และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
ดร.เสรี กล่าวว่าก่อนอื่นต้องดูว่าการนำข้อมูลมาเปิดเผยนั้นเป็นเนื้อหาสาระขององค์กร หรือเป็นการนำเสนอความเห็นส่วนบุคคล หากเป็นเนื้อหาสาระขององค์กรต้องไปดูข้อบังคับว่าการจะใช้ชื่อองค์กรนั้นต้องได้รับการอนุมัติการเผยแพร่ก่อนหรือไม่ และ ช่วงเวลาของการเปิดเผยข้อมูลถือว่ามีความสำคัญ หากมีการนำไปเผยแพร่ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมและยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ต้องพิจารณาเจตนาของผู้เผยแพร่ ว่า ต้องการให้สังคมเข้าใจผิดเพื่อหวังผลประโยชน์อันใดหรือไม่ นอกจากนี้การให้ข่าวสารในนามขององค์กร จะต้องให้ความเคารพกรรมการท่านอื่น ๆด้วย กรณีที่ท่านอื่น ๆ ยังไม่ได้เห็นชอบให้เปิดเผย แต่ไปบอกว่า เป็นข้อเท็จจริงของหน่วยงานเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
"ในกรณีนี้ต้องติดตามว่าใครเป็นผู้อนุมัติให้เผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต การประชาสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่แค่การทำ Content เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความมีจรรยาบรรณในการเปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใส ถูกต้องเป็นความจริง และไม่มีวาระซ่อนเร้น” นพ. สรณ ในฐานะประธาน กสทช. ได้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสมในการจัดระเบียบการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ กสทช.เอง ก็มีข้อบังคับ กสทช. ปี 2555 เรื่องการจัดการประชุมอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้กำลังใจ นพ. สรณ ในการทำหน้าที่ประธาน กสทช. ที่ได้ดูแลการประชาสัมพันธ์ของ กสทช. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการดำเนินงานของ กสทช. ที่มีธรรมาภิบาลต่อไป"ดร.เสรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.เสรีย้ำ ด้วยว่า ความสำคัญของการประชาสัมพันธ์ด้วยสำนึกความรับผิดชอบว่า หากใครจะนำเสนอข้อมูลที่เป็นความเห็นส่วนตัว ควรมีการระบุให้ชัดว่าเป็นความเห็นส่วนบุคคลการใช้สัญลักษณ์ขององค์กรโดยไม่ได้รับการอนุมัตินั้น อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นมติของที่ประชุมให้เผยแพร่ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานด้านจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชน.