แนะพลิกโฉมธุรกิจไทยด้วย IoT

23 ก.พ. 2562 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2562 | 14:49 น.
ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของการทำธุรกิจในปัจจุบัน บริษัททั่วโลกต้องพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้และการหาวิธีจัดการกับระบบเทคโนโลยีดั้งเดิมให้เข้ากับการทำงานในปัจจุบัน

ผลสำรวจความคิดเห็น The Changing landscape of disruptive technologies โดยเคพีเอ็มจี ซึ่งสำรวจความเห็นของผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลกกว่า 750 คน พบว่า Internet of Things (IoT) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อการพลิกผันทางเทคโนโลยี โดยมีอันดับสูงกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (robotics) ในทุกประเภทดังนี้ (1) การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (2) การขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม และ (3) ผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาดผู้บริโภค

รัฐบาลไทยได้ส่งเสริม IoT ในประเทศไทยผ่านนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมกับการพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อันประกอบไปด้วยโครงการเมืองอัจฉริยะในหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น ภูเก็ต และ ระยอง นอกจากนี้ยังจะมีสถาบัน IoT ที่จะจัดตั้งขึ้นภายใน ดิจิทัลพาร์คของ EEC อีกด้วย

47920946

นายณัฐศักดิ์ โรจนพิเชฐ ผู้อำนวยการที่ปรึกษาธุรกิจของเคพีเอ็มจีประเทศไทย กล่าวว่า“ด้วยการเพิ่มขึ้นของการใช้ IoT และความกดดันในการรักษาความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล บริษัทต่าง ๆ ควรตระหนักถึงอันตรายของการปรับใช้เทคโนโลยีโดยไม่มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน การนำเอาเทคโนโลยีใด ๆ ก็ตามมาใช้ สามารถก่อให้เกิดผลเสียเพิ่มขึ้นในระยะยาว หากไม่มีวิสัยทัศน์ที่เหมาะสม”

หลักการประกอบการพิจารณาในการนำเอาเทคโนโลยี IoT มาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดได้ มีดังนี้ คือ 1. ชี้ปัญหาธุรกิจ ระบุให้ชัดเจนว่าต้องการใช้ IoT เพื่ออะไร อะไรคือปัญหาทางธุรกิจที่ต้องแก้ไข และผลประโยชน์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการลดต้นทุน ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ คุณภาพของสินค้าและบริการ การเติบโตทางธุรกิจ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือการลดความเสี่ยง การระบุปัญหาที่ชัดเจน สามารถทำได้โดยใช้กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง การสร้างคุณค่า และเกณฑ์การวัดความสำเร็จ

2. ร่วมมือเพื่อสร้างคุณค่า พลังของ IoT เกิดขึ้นเมื่อมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยมีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ข้อมูลมาสู่บุคคล โดยกระบวนการและข้อมูลนั้นยิ่งมีการแลกเปลี่ยนกันได้มากขึ้นก็จะทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น มาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลและการทำงานร่วมกันมีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณค่า ช่วยลดต้นทุน และพัฒนาความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือการรู้ว่ามีเทคโนโลยีใดบ้างและเทคโนโลยีไหนที่ปรับใช้ได้กับคุณ

3. คิดใหม่ในด้านทักษะและวัฒนธรรม ผู้บริหารควรเตรียมความพร้อมให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการปฏิบัติงานใหม่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่นำ IoT เข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ การเตรียมความพร้อมรวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการปฏิบัติงานใหม่ ๆ การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น การส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ การฝึกอบรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

4. การทดลอง ใช้สุภาษิต 'คิดใหญ่เริ่มต้นเล็ก' ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในธุรกิจของคุณ โดยการพัฒนาและทดสอบระบบ ประเมินความสำเร็จและสิ่งที่ต้องปรับปรุง ตลอดจนการวัดประโยชน์ที่ได้รับ จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาระบบที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพให้แข็งแกร่งขึ้น

5. รู้ถึงความเสี่ยงและกฎระเบียบ ด้วยคุณค่าที่มาพร้อมความเสี่ยง IoT มีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจของคุณอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คุณจึงต้องทำความเข้าใจกฎข้อบังคับหรือความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ (แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ต้องพิจารณา) ต้องแน่ใจว่าคุณคิดในแง่ของลูกค้า พนักงาน ทรัพย์สิน พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ทั้งหมด

6. สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ IoT จะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการเชื่อมต่อขององค์ประกอบต่าง ๆ จนกลายเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมต่อระบบย่อย ๆ เข้าด้วยกัน ดังนั้นระบบดังกล่าวจะไม่พึ่งพาผู้ขายหรือผลิตภัณฑ์เพียงรายเดียว หากแต่เป็นหลายปัจจัยที่ทำงานร่วมกัน เมื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการทางธุรกิจแล้ว จึงจะเห็นได้ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจในด้านใดบ้าง และจะทำงานร่วมกันอย่างไร