เสี่ยงเน็ตล่ม แห่ดูซีรีส์ work from home

25 มี.ค. 2563 | 05:24 น.

นักวิชาการแนะ work from home อย่าดูซีรีส์เยอะเดี๋ยวเน็ตล่ม ชี้ใช้ในปริมาณเท่าที่จำเป็นในสถานการณ์โควิด ระบาด

ปรากฏการณ์ห้ามประชาชนออกจากบ้านเพื่อหยุดยั่งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 (Covid-19) ทำให้ประชาชนต้องกักตัว และ เกิดปรากฏการณ์ work from home ส่งผลให้มีการใช้ข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จน Facebook ต้องออกมาตรการลดคุณภาพวีดีโอ ขณะที่สหภาพยุโรปแนะนำให้ Netflix ลดคุณภาพวีดีโอลงแค่ HD

ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณให้ประเทศไทยของเราเองต้องเตรียมรับมือกับปัญหาอินเตอร์เน็ตในอาจเกิดขึ้นในอนาคต?

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และเลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายให้”ฐานเศรษฐกิจ”ฟังว่า ปรากฏการณ์การทำงานอยู่บ้าน หรือ work from home และการเรียนการสอนผ่านระบบ online ผ่านเครือข่ายไร้สาย mobile network 3G 4G หรือ 5G และเครือข่ายแบบมีสาย อินเทอร์เน็ตบ้าน หรือสำนักงาน เหล่านี้ล้วนทำให้มีการดึงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตจากเครือข่ายต่างๆไปทำงานที่บ้านหนาแน่นขึ้น

เช่นเดียวกับการใช้งานในรูปแบบการประชุมทางไกล หรือ ประชุมออนไลน์ จากสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถมาประชุมหรือจัดการประชุมแบบพบหน้าได้ ซึ่งตอนนี้มีการใช้งานการประชุมทั้ง Skype, Zoom, MS Team, Google Meet และอื่นๆ ทดแทนการประชุมหรือการเรียนการสอนรูปแบบเดิมๆ แทบทั้งหมด ปรากฏการที่เกิดไม่ได้เกิดการใช้งานที่หนาแน่นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั้งโลก และมีแนวโน้มว่าการใช้งานดาต้าจะยิ่งทวีความต้องการ เมืองหลายๆ ที่เริ่มมีมาตรการปิดเมืองอย่างจริงจัง

ในสถานการณ์ตอนนี้ผู้ให้บริการหรือการบริหารโครงข่ายโทรคมนาคมจึงถือว่ามีความสำคัญ เพราะปริมาณการใช้งานดาต้าทุกรูปแบบได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล บริการประชุมออนไลน์บางตัวถึงกับรองรับผู้ใช้งานไม่ไหว หรือเริ่มมีปัญหาเชิงคุณภาพกับผู้ให้บริการรายหลักๆ บางราย ซึ่งเกิดในระดับผู้ให้บริการ platform จากต่างประเทศ ส่วนในระดับเครือข่ายภายในประเทศเชื่อว่าแม้จะมีปริมาณการใช้งานข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผู้ให้บริการทุกรายยังคงรองรับได้ แต่อาจมีลักษณะของการช้าหรือติดขัดบ้างในบางจุดหรือบริการบางประเภท

อาทิ กลุ่มบริการแบบสตรีมมิ่ง หากเข้าใจเทคนิคการทำงานจะเราทราบว่าบริการสตรีมมิ่งภาพ หนัง ซี่รี่ย์ หรือแม้แต่ยูทูป จะมีการปรับคุณภาพของภาพโดยอัตโนมัติตามคุณภาพและความหนาแน่นของโครงข่าย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการสตรีมมิ่งภาพหรือวีดีโอ

กล่าวคือ ในภาวะที่เครือข่ายมีความหนาแน่นมากอันเกิดจากการใช้งานพร้อมๆ กันของผู้ใช้บริการจำนวนมาก platform สตรีมมิ่งบางตัวจึงปรับคุณภาพโดยเราอาจจะเห็นภาพที่ลดความคมชัดลงอันนี้เป็นอัตโนมัติ และภาพจะกลับมาคมชัดเมื่อเครือข่ายมีความหนาแน่นลดลงกระบวนการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ

แต่ทั้งนี้จะเห็นว่าการลดทอนคุณภาพของภาพหรือเสียงลงในบริการ ในแต่ละระบบนั้นๆ ก็เพื่อให้การสื่อสารสามารถดำเนินได้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน  จึงอยากให้ผู้ใช้บริการได้เข้าใจสถานการณ์ที่ต้องมีการแชร์ทรัพยากรเครือข่ายกันใช้งานในสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติทุกอย่างก็จะมีคุณภาพการให้บริการที่ดีเหมือนเดิม

นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ของภาครัฐ หรือ กสทช. ในช่วงนี้ ที่หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดีอีเอส ก็ผลักดันเรื่องการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการใช้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับภาคเอกชนที่ก็มีการเตรียมเครือข่ายให้มีความพร้อมเช่นกัน แม้ต้องปิดสำนักงานหรือต้องปฏิบัติตามมาตรการเหมือนกัน

ส่วน กสทช. ก็เตรียมออกมาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ดาต้าให้กับผู้ใช้บริการมือถือ และเน็ตบ้าน ผ่านผู้ให้บริการทุกรายเป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็ถือว่าเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้นและลดภาระของประชาชน 

แต่ถึงอย่างไรก็อยากจะให้ประชาชนใช้งานเครือข่ายสื่อสารต่างๆ เท่าที่จำเป็นดังที่กล่าวว่า ณ ตอนนี้มีความต้องการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แม้จะได้ดาต้าเพิ่มมาฟรีแต่เราต้องระลึกว่าใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อลดความหนาแน่นของเครือข่าย สงวนการใช้งานแก่ผู้อื่นที่อาจมีความจำเป็นมากกว่าด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ดีแทค ได้รายงานปริมาณการใช้งานพบว่าผู้ใช้งานจากฐานลูกค้ารวมในไตรมาสแรก (1 มกราคม-19 มีนาคม 2563) ให้ความสำคัญกับแอปพลิเคชันรองรับการทำงานจากบ้านเพื่อรับวิกฤตโควิด-19 โดยแอปพลิเคชันที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับมี ดังนี้ อันดับ 1. Zoom ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 828%   2.  Skype ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 215%   3.Google Hangouts Meet ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 67% 4.Grab ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 36% 5.  Facebook Messenger และ LINE Call (VoIP) ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 17%

สำหรับ 5 จังหวัดที่มีการใช้งานสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกคือ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ สงขลา และชลบุรี ตามลำดับ