“สมศักดิ์-เพื่อไทย”จัดหนักเอาใจ อสม. เพิ่มสิทธิประโยชน์อื้อ

01 ม.ค. 2568 | 00:00 น.

“สมศักดิ์-เพื่อไทย”จัดหนักเอาใจ อสม. เพิ่มสิทธิประโยชน์อื้อ : ทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล หรือ มานั่งเป็น รัฐมนตรีสาธารณสุข เราจะได้เห็นนโยบายการ เอาใจ อสม. เกิดขึ้นเสมอ … รายงานพิเศษหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4058

KEY

POINTS

  • นับแต่ สมศักดิ์ เทพสุทิน เข้านั่งรมว.สาธารณสุข เมื่อ 28 เม.ย. 2567 ได้ผลักดันนโยบายหลายอย่าง เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับ อสม. แบบ“ซื้อใจ” 
  • ผลักดันให้ได้รับค่าป่วยการเดือนละ 2,000 บาท ด้วยการบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณทุกปี แทนที่จะต้องมาของบประมาณเป็นปีต่อปี ซึ่งมีความไม่แน่นอน
  • เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.อสม.ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ อสม. มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เนื่องจากจะมีสิทธิประโยชน์หลายอย่างตามมา

นับแต่ สมศักดิ์ เทพสุทิน เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข คนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 ตลอดระยะเวลา 7-8 เดือน ที่ผ่านมา เขาได้ผลักดันนโยบายรัฐบาล ที่มาจากนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) หลายอย่าง เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หรือ อสม. แบบ “ซื้อใจ” ได้เลย  

ปัจจุบันจำนวน อสม.  ที่ สมศักดิ์ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,075,163 คน แบ่งเป็น ภาคเหนือ  271,556 คน, ภาคกลาง 220,990 คน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) 435,660 คน, ภาคใต้ 146,957 คน และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน  15,000 คน 

การเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ของ อสม. ในยุคของ สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.สาธารณสุข ที่น่าสนใจ ไล่เลียงได้ดังนี้

หลังจากที่ สมศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งต่อจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในเดือน พ.ค. 2567 ก็ได้ประกาศค่าป่วยการอัตราใหม่จากที่เคยได้รับ เป็น 2,000 บาท และตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 –เม.ย. 2567 อีก 7,000 บาท รวม 9,000 บาท จากนั้นจะได้รับค่าป่วยการเดือนละ 2,000 บาท ทุกเดือน 

ขณะเดียวกัน ได้ผลักดันนโยบายเอาใจ อสม. ด้วยการยกร่าง  พ.ร.บ.เกี่ยวกับความมั่นคงในอาชีพของ อสม. หรือ “พรบ. อสม.” เพื่อให้ได้รับค่าป่วยการในการปฏิบัติหน้าที่เดือนละ 2,000 บาท โดยต้องบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกๆ ปี แทนที่จะต้องมาของบประมาณเป็นปีต่อปี ในหมวดเงินอุดหนุน ซึ่งมีความไม่แน่นอน

ส่งเสริมให้ อสม. เข้าอบรมที่สถาบันพระบรมราชชนกเพื่อยกระดับขึ้นเป็น "ผู้ช่วยพยาบาล" เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ อสม. 
ทั้งยังแก้ปัญหาหนี้สินของ อสม. โดยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ได้ไฟเขียวปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ อสม. โดยลดดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 8 ให้เหลือร้อยละ 6 ซึ่งจะเริ่มกู้ได้ช่วง ม.ค.- ก.พ. 2568

                            “สมศักดิ์-เพื่อไทย”จัดหนักเอาใจ อสม. เพิ่มสิทธิประโยชน์อื้อ

นอกจากนี้ ยังเล็งที่จะให้ อสม. สามารถดึงเงินค่าฌาปนกิจ ที่ อสม.จะได้คนละ 500,000 บาท สามารถนำมาใช้ก่อน 300,000 บาทได้อีกด้วย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ อสม.

นายสมศักดิ์ ได้เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.อสม.ให้เกิดขึ้น โดยเน้นย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้จะพลิกโฉม อสม. ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ อสม.จะได้รับอาทิ การพัฒนาสมรรถนะ,  เครื่องแบบ, การรักษาพยาบาล, การเบิกค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติหน้าที่, ค่าป่วยการ, ประกาศเกียรติคุณ, เครื่องราชอิสริยาภรณ์, การศึกษาและอบรม, การรวมกลุ่ม อสม. และ กองทุนสนับสนุนการปฎิบัติงานของ อสม. 

ที่สำคัญในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายดังกล่าว จะบัญญัติไว้ว่า ให้ อสม. ยังคงเป็น อสม.ต่อไป, ไม่นำคุณสมบัติ อสม. ใหม่ มาใช้บังคับกับ อสม. เดิม, ไม่นำหลักเกณฑ์การประเมินสมรรถนะมาใช้บังคับกับ อสม. เดิม จนกว่ากฎหมายลำดับรองจะมีผลใช้บังคับ 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2567 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ช่วงหนึ่งของพิธีเปิดงานการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งที่ 6 ซึ่งมี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมตรี เป็นประธาน

สมศักดิ์ ได้บอกกล่าวกับ อสม. ที่เข้าร่วมงาน 5,000 คน และผ่านระบบออนไลน์ อีก 250,000 คน เกี่ยวกับความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ. อสม. ว่า ขณะนี้ยังค้างอยู่ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เนื่องจากยังสอบถามเรื่องกองทุน อสม. โดยได้ชี้แจงและคอยติดตามทุกระยะ เมื่อจบจากกรมบัญชีกลางแล้ว ก็จะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา 

                      “สมศักดิ์-เพื่อไทย”จัดหนักเอาใจ อสม. เพิ่มสิทธิประโยชน์อื้อ

อย่างไรก็ตาม ยังมีร่าง พ.ร.บ.อสม. ฉบับของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ที่ได้เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร จากนี้จะส่งให้นายกรัฐมนตรี ลงนาม เพราะเป็นกฎหมายการเงิน ก่อนส่งกลับไปยังสภาฯ อีกครั้ง

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อสม. คือ เรื่อง “เงินกองทุน อสม.” ที่จะเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้นำเงินจากการจับกุมผู้ค้ายาเสพติด จากการแจ้งเบาะแส 5% หากไม่มีผู้ใดแสดงตัวขอให้นำเงินส่วนนี้เข้า กองทุน อสม. 

อีกทั้ง หาก อสม.ช่วยรณรงค์การลดโรคไม่ติดต่อ ให้มีผู้เจ็บป่วยน้อยลง ก็จะทำให้สามารถลดงบประมาณดูแลสุขภาพคนไทยได้ ข้อมูลปี 2567 งบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วงเงิน 152,738 ล้านบาท ได้ใช้ในการดูแลโรคไม่ติดต่อ ราว 79,537 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของงบทั้งหมด จึงเสนอให้นำส่วนต่างมาเข้ากองทุนให้ อสม. 

“อสม. ที่มีอยู่กว่า 1.07 ล้านคน จะสามารถช่วยในประเด็นดังกล่าวได้ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า อสม. 1 คน จะสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพได้อีกถึง 50 คน ดังนั้น อสม. 1 ล้านคนที่มี คูณไปด้วย 50 คน ก็จะเท่ากับเครือข่ายสุขภาพที่เรามี จะมากถึง 50 ล้านคน”

พ.ร.บ.อสม.ฉบับใหม่ คาดว่าจะสามารถทำให้มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2569

ดูจากการดำเนินงานและนโยบาย ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน อาจถือเป็นยุคทองของ “อสม.” โดยเฉพาะหาก พ.ร.บ.อสม. มีผลบังคับใช้ “สิทธิประโยชน์” หลายอย่างที่เกิดขึ้น น่าจะทำให้เกิดความพึงพอใจได้ 

และด้วยจำนวน อสม.ทั่วประเทศ ที่มีร่วม 1.07 ล้านคน หากดึงมาเป็นแนวร่วมได้ ย่อมทำให้มีฐานกระจายอยู่ในระดับถึงหมู่บ้าน หากใช้เป็น “หัวคะแนน” หรือ “ตัวแทนพรรคการเมือง” ก็ย่อมได้เปรียบพรรคอื่นในทางการเมือง

ดังนั้น ทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล หรือ มานั่งเป็น รัฐมนตรีสาธารณสุข เราจะได้เห็นนโยบายการ “เอาใจ อสม.” เกิดขึ้นเสมอ พรรคเพื่อไทย ก็เช่นกัน...

                             “สมศักดิ์-เพื่อไทย”จัดหนักเอาใจ อสม. เพิ่มสิทธิประโยชน์อื้อ
       

พัฒนาการค่าตอบแทน อสม.

อสม.ได้กลายมาอยู่ในความสนใจของพรรคการเมือง ภายหลังจากในปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นรมว.สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ริเริ่มมอบเงินค่าตอบแทนแก่ อสม. 600 บาท 

ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนก็ให้ความสนใจในการเข้าเป็น อสม.กันมากขึ้น  
ผ่านมา 10 ปี ในปี 2561 ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้เพิ่มค่าป่วยการ อสม. เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ อสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ จากเดิมคนละ 600 บาทต่อเดือน เป็นคนละ 1,000 บาทต่อเดือน โดยขณะนั้นมี อสม. ประมาณ 1.05 ล้านคน

ล่วงเข้าสู่ยุคที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็น รมว.สาธารณสุข และเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นได้เสนอเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็น 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน  เนื่องจากมีภารกิจสำคัญในเรื่องการของการดำเนินงานโควิด-19

ก่อนสิ้นสุดยุค “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ครม.ก็ได้เพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็น 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน เริ่มจ่ายอัตรานี้ในปีงบประมาณ 2567 

มาถึงยุคที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน จากพรรคเพื่อไทย เป็น รมว.สาธารณสุข  ได้ประกาศนโยบายเอาใจ อสม. ผลักดันให้ค่าป่วยการ อสม. เดือนละ 2,000 บาท ต้องบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกๆปี  แทนที่จะต้องมาของบประมาณเป็นปีต่อปี ในหมวดเงินอุดหนุนซึ่งมีความไม่แน่นอน 

รวมถึงผลักดันกฎหมายที่จะเป็นการเพิ่ม “สิทธิประโยชน์” ให้กับ อสม. อีกเพียบ...