โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว 100% แต่ในวิกฤติทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ “ณัฐวลัย เนียนขาว” สตาร์ทอัพผู้ก่อตั้ง Smart Travel Global หรือปัจจุบันคือ "GIANTTIX" แพลตฟอร์มตัวกลางสำหรับการจองตั๋วในการเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาระบบการจองตั๋วจากรูปแบบกระดาษสู่ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) เปิดเผยผ่านบทสัมภาษณ์ของ “ฐานเศรษฐกิจ”
จะเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศไทย ยังมีการใช้ตั๋วกระดาษเพื่อเข้าชมซึ่งปัญหาจากการใช้ตั๋วกระดาษคือไม่สามารถเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว และคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในอนาคตได้ ทั้งนี้ GIANTTIX โซลูชันแพลตฟอร์มสำหรับการจองตั๋วเข้าชมที่ช่วยให้สถานที่ต่างๆ สามารถเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวด้วยการใช้ระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ที่ข้อมูลทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอยู่ในระบบออนไลน์ ทำให้ผู้บริหารสามารถดูรายงานผ่านแดชบอร์ดได้ ช่วยในเรื่องการบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยการจองและชำระเงินออนไลน์
สมาร์ททราเวลโกลบอลนั้นเปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนเมษายน 2562 โดยมีโมเดลรายได้จาก 2 ช่องทาง คือ 1. ค่าบริการระบบ ERP แบบรายเดือนตั้งแต่ 8,500-15,000 บาทต่อเดือน 2. ค่าธรรมเนียมการทำรายการต่อครั้ง (Transaction fee) อยู่ที่ 50-100 บาทต่อตั๋วหนึ่งใบสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการติดตั้งระบบ ERP โดยจะครอบคลุมตั้งแต่การจองตั๋ว การเข้าชมสถานที่ การจัดทำรายงาน ซึ่งการเปิดตัวในช่วงแรกนั้นเติบโตกว่า 1300% มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มาใช้บริการประมาณ 8 แห่ง แต่สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจ 100% ทำให้ยอดการจองตั๋วในเดือนมกราคมกลายเป็นศูนย์ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว
กางโมเดลเจาะ B2C
หลังจากสถานการณ์โควิดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ต้องมีการควบคุมจำนวนผู้เข้าชม รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบการจองล่วงหน้า จึงมองโอกาสที่จะขยายการเติบโตไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงต่อยอดไปยังโมเดลรายได้จากสปอนเซอร์โฆษณาบนแพลตฟอร์ม และการทำแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้แบบ B2C ที่จะเป็นศูนย์รวมตั๋วต่างๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและบริการโดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2564 ภายใต้ชื่อ “GIANTTIX”
“ทุกวิกฤติมีโอกาส ช่วงก่อนโควิดเราคิดว่ามันเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการจะปรับตัวมาใช้ระบบออนไลน์ ทุกคนกลัวระบบและคิดว่ายังไม่มีความจำเป็น แต่พอวันนี้มีสถานการณ์โควิดเข้ามาทุกที่ต้องมีการควบคุม มีการจำกัดการเข้าชมสถานที่รักษาระยะห่าง ความสามารถในการจ้างพนักงานที่ลดลง จึงจำเป็นต้องนำระบบเข้ามาช่วย ซึ่งวิกฤติโควิดทำให้ผู้ประกอบการตระหนักมากขึ้น ว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้งานมีประสิทธิภาพ หากเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวได้ก็จะสามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดและการบริหารจัดการได้”
ทั้งนี้เป้าหมายการเติบโตของธุรกิจนั้นคงต้องเริ่มต้นใหม่ในปี 2564 โดย GIANTTIX ตั้งเป้าเติบโตกว่า 200% ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้งานระบบ ราว 30 รายในช่วงแรกและคาดว่าจะขายตั๋วได้อาทิตย์ละ 1,000 ใบ ทั้ง B2B, B2C และในปีถัดไปตั้งเป้าโต 300% คาดหวังผู้ใช้งานระบบประมาณ 90 ราย นอกจากนี้ยังมองการขยายการให้บริการไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงปลายปี 2565 เมื่อมีการใช้งานระบบของ GIANTTIX ในประเทศได้ค่อนข้างเสถียร เนื่องจากการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านหรืออาเซียนบางประเทศยังมีการใช้ระบบที่เป็นกระดาษอยู่ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเติบโตและสเกลไปยังต่างประเทศได้
: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,617 หน้า 16 วันที่ 11-14 ตุลาคม 2563
โดย : ภาพิมล ภูมิถาวร