จากผลสำรวจ “ASEAN SME Transformation Study 2020” โดย ธนาคารยูโอบี (UOB) ร่วมกับแอคเซนเจอร์ (Accenture) และดันแอนด์แบรดสตรีท (Dun & Bradstreet) ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ในอาเซียนกว่า 1,000 ราย ใน 5 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจว่าธุรกิจ SMEs ปรับตัวอย่างไรภายใต้สถานการณ์โควิด-19
พบว่าความชัดเจน คือ SMEs มุ่งมั่นในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นสำคัญ แม้ว่ารายได้จากธุรกิจจะลดลงก็ตาม โดยเฉพาะ SMEs ในประเทศไทย มองว่าต้องการลงทุนในเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 71% รองลงมาคืออินโดนีเซีย 65% เวียดนาม 63% สิงคโปร์ 60% และมาเลเซีย 59% เพราะตระหนักว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่เพียงแต่จะพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังจะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ ตลอดจนการเข้าถึงแผนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบองค์รวมอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์สำหรับ SMEs เนื่องจากจะเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งในการสร้างธุรกิจเพื่อความต้องการในระยะยาว
เพื่อช่วยให้ เอสเอ็มอี มีทิศทางและเตรียมองค์กรให้พร้อมต่ออนาคตเพื่อกำหนดตำแหน่งทางธุรกิจ สร้างอำนาจการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้ จึงมีการกำหนด 6 ประเด็นทางธุรกิจที่ที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้
6 ประเด็น ปูทางสร้างกลยุทธ์ดิจิทัล
6 ประเด็นที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เอสเอ็มอีเดินไปถึงเป้าหมายได้อย่างยั่งยืนนั้นไล่ตั้งแต่ 1.การเพิ่มยอดขาย ด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 พบว่า 3 สิ่งที่ SMEs ต้องการคือ การเข้าถึงช่องทางการขายและการตลาดใหม่ๆ การใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาแคมเปญตลาดออนไลน์ การใช้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้าและธุรกิจในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อข้ามผ่านความท้าทาย จากตัวเลือกใช้งานจำนวนมาก ทำอย่างไรให้การใช้งบการตลาดเกิดประโยชน์สูงสุด ต้องเลือกใช้เครื่องมือบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ ที่เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรและซัพพลายเออร์ที่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งเคล็ดลับที่จะช่วย SMEs ไปถึงเป้าหมายได้คือต้องทำงานร่วมกับระบบนิเวศธุรกิจ อาทิ การสร้างร้านค้าออนไลน์ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชที่มีอยู่ ประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อติดตามประสิทธิภาพแคมเปญต่างๆ เชื่อมต่อกับซัพพลายเออร์ที่เชื่อถือได้เพื่อสำรวจโอกาสทางธุรกิจที่เป็นไปได้จากเครือข่ายของพันธมิตรและบริษัทอื่นๆในระบบนิเวศ
ต่อเรื่องนี้นายวรุตม์ รินธนาเลิศ เจ้าของแบรนด์ รินแอนด์ริน จิวเวลรี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับ กล่าวว่า “ เราพบอุปสรรคหลายประการเมื่อเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อาทิ การใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากในการบริหารจัดการยอดขายจากมาเกตร์เพลสหลายๆแห่ง ดูแลการจัดส่ง และติดตามสินค้าคงคลังตลอดเวลาเพื่อพิจารณาปริมาณผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย แต่เมื่อใช้ BentoWeb โซลูชัน ครบวงจร ทำให้เราบริหารจัดการกระบวนการหลังบ้านได้ทันทีบนเพลทฟอร์ม โพสต์และบริหารจัดการการจำหน่ายสินค้าในมาเก็ตร์เพลส อีคอมเมิร์ซและช่องทางสื่อสังคมหลายๆแห่งพร้อมๆกันได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องทำงานซ้ำๆหลายๆครั้ง ”
2.บริหารจัดการการดำเนินธุรกิจ สิ่งที่ SMEs ต้องการปรับคือ ห่วงโซ่อุปทาน โลจิสติกส์ การบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่เหมาะสม ความสามารถในการติดตามแบบเรียลไลท์ ปรับกระบวนการจัดหาจัดซื้อให้ง่ายขึ้น วางแผนมอบหมาย และติดตามกิจกรรมทางธุรกิจประจำวัน สามารถทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าและผลกระทบของลักษณะตามฤดูกาลได้ดียิ่งขึ้นช่วยนำทางการตัดสินใจเรื่องการกำหนดราคาและการเติมสินค้าคงหลังเพื่อเพิ่มกำไร
รวมถึงเพื่อลดทอน กระบวนการซับซ้อนและปัญหาเรื่องคนและช่วยลดต้นทุนเวลาในการจัดหาซัพพลายเออร์และวัตถุดิบราคาถูกที่สุดได้ง่ายและรวดเร็ว เพื่อสร้างมุมมองแบบองค์รวมในการดำเนินงาน และเครือข่ายระบบนิเวศธุรกิจที่มีจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้คล่องตัวขึ้น เพื่อให้การบริหารคลังสินค้าเป็นไปอย่างถูกต้อง จะช่วยให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องง่ายจะทำได้อย่างรวดเร็ว และอัตโนมัติ
3. บริหารจัดการเงินสด เป็นอีกด้านที่ธุรกิจ SMEs ต้องการรู้และคาดคะเนสภาพคล่อง ทำอย่างไรให้การวางแผนและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในอนาคตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพิสูจน์ยอดรายรับและรายจ่ายทั้งหมดทันที ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องกระแสเงินสด หรือค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่คาดไม่ถึง
ดังนั้น SMEs ต้องเลือกพันธมิตรในระบบนิเวศธุรกิจ มาใช้แก้ปัญหาเหล่านี้ และการใช้โซลูชันระบบบัญชีเพื่อรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะของธุรกิจแบบเรียลไทม์บนคลาวด์ เพื่อบูรณาการจุดขายสินค้าคงคลังและระบบบริหารจัดการคำสั่งซื้อ ใช้ดิจิทัลโซลูชันจัดการกระแสเงินสดให้เหมาะสมที่สุด และพัฒนาใช้บริการการชำระเงินแบบดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าชำระเงิน รวดเร็ว ง่ายยิ่งขึ้น และบริการเก็บเงินรูปแบบนี้ช่วยเรื่องกระแสเงินสดเนื่องจากทำให้ SMEs รับรู้การชำระเงินทันที
4. ให้การธนาคารเป็นเรื่องง่าย ทุก SMEs ต่างต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและรวดเร็ว พร้อมจะรับข้อเสนอทางธนาคารที่ออกแบบมาเพื่อธุรกิจเฉพาะ อยากเห็นมุมมองภาพรวมเกี่ยวกับธุรกิจ กิจกรรมทางการเงินและการดำเนินงานและข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูล
ดังนั้นการเชื่อมโยงกับธนาคารให้เป็นเรื่องง่ายด้วย UOB BizSmart โซลูชันธุรกิจครบวงจร จะช่วยให้ SMEs จัดการระบบธุรกิจต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการขายการจัดการเงินเดือนระบบบัญชี ทำให้ SMEs ปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รับข้อความเตือนเฉพาะธุรกิจและข้อมูลเชิงลึกที่นำไปปฏิบัติได้ ทำให้มีมุมมองเรื่องการดำเนินธุรกิจองค์รวมที่มีข้อมูลสนับสนุน ผ่านการใช้งานซอฟต์แวร์ที่รวมมากับข้อมูลธนาคารได้
5. บริหารจัดการพนักงาน ในยุคโควิด-19 ผู้ประกอบการ SMEs ต่างต้องการปรับกระบวนการจัดการเงินเดือนและการบริหารจัดการพนักงานให้เป็นระบบอัตโนมัติ เพิ่มพูนและสร้างทักษะใหม่ให้พนักงาน ตลอดจนสรรหาพนักงานที่เหมาะกับธุรกิจและให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมเพื่ออยู่ร่วมกับองค์กรไปเป็นเวลานาน
ดังนั้นเพื่อสร้างความคล่องตัวในงานส่วนนี้ SMEs ต้องทำให้การบริหารจัดการด้านแรงงานเป็นเรื่องง่าย เป็นระบบอัตโนมัติ อาทิ การเริ่มงานใหม่ การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และการลางานผ่านดิจิทัลโซลูชัน เพิ่มพูนทักษะดิจิทัลในการทำงานให้ทีมงาน และสร้างแรงดึงดูดให้องค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างสรรค์สร้างนวัตกรรมการทำงานร่วมกัน
6. ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดย SMEs จะต้องการเข้าใจหลักปฎิบัติและเงื่อนไขของตลาดในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกฏหมาย การกำกับดูแล และการปฏิบัติตามกฏระเบียบ การหาผู้ซื้อภายในประเทศ การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนในต่างประเทศเพื่อสนับสนุนความต้องการในการขยายธุรกิจ เพื่อลดทอนและตัดปัญหาความท้าทายข้อจำกัด การไม่สามารถรับรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดในประเทศ ขีดจำกัดของความสัมพันธ์ทางการค้าในตลาด การอ่อนค่าของสกลุเงิน
ดังนั้นเคล็ดลับของการขยายธุรกิจไปต่างประเทศของ SMEs ต้องเชื่อมโยงตนเองเข้ากับพันธมิตรในระบบนิเวศ ใช้มาร์เก็ตเพลสออนไลน์ เลือกใช้บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินที่เชื่อถือได้ หรือใช้ชุดโซลูชันทางการเงิน ที่บริหารจัดการเงินสดได้ตามความต้องการและลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกด้วย
-เปิดทางลัด SMEs สู่ดิจิทัลโซลูชั่น
ส่วนโครงการ Smart Business Transformation หรือ SBTP เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรในระบบนิเวศธุรกิจดิจิทัล ที่เป็นทางลัดความสำเร็จที่ SMEs สามารถเข้าถึงได้อีกทางหนึ่ง นางสาวพอลลีน ซิม หัวหน้ากลุ่มงาน เดอะ ฟินแล็บ สิงคโปร์ กล่าวว่าธนาคารยูโอบี ประเทศไทยและเดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) ขับเคลื่อนโครงการ Smart Business Transformation (SBTP) ปีที่ 2 สู่แพลตฟอร์มดิจิทัล บน เดอะ ฟินแล็บ ออนไลน์ (The Finlab Online) เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ในประเทศไทย ให้สามารถเรียนรู้และนำโซลูชันที่เหมาะสมไปใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้เข้าสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม SMEs ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ SBTP จะสามารถประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีด้วยตนเองโดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจของเดอะ ฟินแล็บ อาทิ Digital Needs Assessment Test และ Digital Solutions Advisory Quiz โดยผลที่ได้จากการประเมินและการตอบคำถามจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถระบุและจัดลำดับความสำคัญของความต้องการทางธุรกิจที่ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล
จากนั้น SMEs จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาทางด้านธุรกิจที่เผชิญอยู่และจะได้รับการจับคู่กับผู้ให้บริการโซลูชันและเทคโนโลยีทางด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญยังสามารถเข้าถึงความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเรียนรู้การตลาดดิจิทัล กลยุทธ์ด้านอีคอมเมิร์ซ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทางธุรกิจ การบริหารจัดการด้านการเงิน รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือดิจิทัล จากผู้ให้บริการโซลูชัน ผ่านชุมชนออนไลน์ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน และเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจให้เติบโตได้ในระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายเดอะ ฟินแล็ป ได้อีกด้วย
สุดท้ายเพื่อที่SMEsสามารถหาคำตอบของการเปลี่ยนถ่ายสู่ธุรกิจดิจิทัล ที่ต่อยอดเชื่อมโยงพันธมิตรในระบบนิเวศธุรกิจได้ทั่วทั้งในภูมิภาคอาเซียนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการSBTPที่ https://thefinlab.com/th/thailand/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมให้พิสูจน์ความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม มาช่วยเปลี่ยนถ่ายธุรกิจอนาคตได้อย่างยั่งยืน
น่าจะเป็นโอกาสดีให้กับ SMEs ไทยในท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ได้อีกช่องทาง