จากกรณีที่ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ออกมาแสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์การควบรวมธุรกิจของไทยในปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าการควบรวมธุรกิจของไทยโดยรวมอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาทหรือเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่า GDP ของประเทศไทย และเฉพาะปี 2564 ที่ผ่านมามีการควบรวมด้วยมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่าจากปี 2563 ที่มีมูลค่าการควบธุรกิจของไทยอยู่ที่ 0.48 ล้านล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มการควบรวมธุรกิจของไทยในปี 2565 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีแนวโน้มการใช้อำนาจเหนือตลาด หรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้
แหล่งข่าวในวงการสื่อสารโทรคมนาคม เปิดเผยว่า สิ่งที่ประธาน กขค.สะท้อนออกมานั้น ไม่ได้ห่างไกลไปจากความเป็นจริงที่ผู้คนในสังคมพากันสงสัย และกังขาต่อการทำหน้าที่ของ กขค.และสำนักงานแข่งขันทางการค้าได้เป็นอย่างดีว่า มีก็เหมือนไม่มีหลังจาก กขค.ต้องเสียรังวัดไปกับการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งยักษ์ เพราะดอดไปไฟเขียวควบรวมให้อย่างง่ายดาย จนทำให้ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่า 50% เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทะยานขึ้นไปกินรวบตลาดค้าปลีกค้าส่งของประเทศจนเกือบจะเป็นการครอบงำตลาดแบบเบ็ดเสร็จไปแล้ว
ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณากันตามบทบัญญัติกฎหมายแข่งขันทางการค้าฯ หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลลักษณะเดียวกัน หากเป็นกรณีในต่างประเทศ หน่วยงานจะต้องติดเบรกสั่งระงับการควบรวมกิจการกันตั้งแต่แรกแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กลับไฟเขียวดีลควบรวมค้าปลีกค่าส่งยักษ์ดังกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของวงการสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังเผชิญกรณี การประกาศควบรวมกิจการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ซึ่งล่าสุดประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ได้ยอมรับอย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการแข่งขันท่างการค้า คงไม่สามารถก้าวล่วงลงไปพิจารณากรณีนี้ได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
“จุดยืนและท่าทีของประธาน กขค.ข้างต้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนเปรี้ยของกลไกการกำกับดูแลการแข่งขันทั้งในตลาดทั่วไปและตลาดสื่อสารโทรคมนาคม เพราะหากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ายังอ้างว่าไม่มีอำนาจจะก้าวล่วงลงไปดูแลกรณีดังกล่าวแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.จะมีน้ำยาอะไร สกัดหรือยับยั้งดีลควบรวมกิจการที่กำลังจะพลิกโฉมหน้าวงการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศครั้งนี้ได้ เพราะลำพังแค่การกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมตามภารกิจหลักและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในปัจจุบัน หน่วยงาน กสทช.ก็ถูกสังคมตั้งข้อกังขาในการทำหน้าที่มาโดยตลอดอยู่แล้ว”
ยิ่งเมื่อไปดูกฎหมายและบรรดาเครื่องไม้เครื่องมือขององค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งนี้ ที่แม้จะถอดรูปแบบมาจาก กฎหมายแข่งขันทางการค้า ซึ่งก็รวมไปถึงอำนาจที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ แต่ ที่ผ่านมา ไม่รู้ว่า กสทช.ไปคัดลอกหลักการการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมกันอีท่าไหน วันดีคืนดีก็กลับไปออก กม.จำกัดและลดทอนอำนาจของตนเอง
อย่างประกาศ กสทช.ปี 2561 ที่ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง กสทช.ไปแก้ไขและยกเลิกประกาศ กสทช.เดิมปี 2553 ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการควบรวมกิจการและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคนมานาคมนั้น ก็จำกัดอำนาจหน้าที่ กสทช.ให้เหลืออยู่เพียง รับทราบการควบรวมกิจการที่ผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.แจ้งมาเท่านั้น ไม่สามารถจะสั่งห้ามได้ แม้การควบรวมกิจการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดและจำกัดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็ตาม ทั้งที่แต่เดิมนั้น กสทช.มีอำนาจที่จะสั่งห้ามการควบรวมที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการผูกขาดได้
นอกจากนี้ ในเรื่องของกรอบระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการก็ให้น่าฉงน เพราะ กสทช.ได้จำกัดและบั่นทอนอำนาจของตนเอง โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะควบรวมกิจการ ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช.ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการดำเนินการ โดยที่กสทช.ทำได้แค่การจัดตั้งที่ปรึกษาอิสระ(FA) ขึ้นจัดทำความเห็นประกอบรายงานการควบรวมธุรกิจภายใน 30 วันเท่านั้น
โดยไม่มีอำนาจสั่งห้ามหรือยับยั้งแต่อย่างใด นั่นเท่ากับเปิดช่องให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.ที่ประสงค์จะดำเนินการควบรวมอย่างทรูและดีแทคในปัจจุบัน เพียงแค่จดแจ้งรายงานธุรกรรมการควบรวมที่จะมีขึ้นต่อเลขาธิการ กสทช.เท่านั้น ก็สามารถเดินหน้ากระบวนการควบรวม ทำ Deal Diligence หรือดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ต่อได้ทันที โดยไม่ต้องขออนุมัติใดๆ จาก กสทช.
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สังคมยังคงตั้งข้อกังขาต่อการพิจารณาดีลควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ทรู-ดีแทคในเวลานี้คือ เหตุใดกสทช.ชุดรักษาการในปัจจุบัน ที่มีส่วนสำคัญในการแก้ไขหลักเกณฑ์ตามประกาศ กสทช.เพื่อตัดแขนขาและอำนาจของตนเองลง ยังคงทำหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้อย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งที่วุฒิสภาได้โหวตเห็นชอบ กสทช.ชุดใหม่ไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2564 แล้ว และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้แจ้งรายชื่อว่าที่ กสทช.ชุดใหม่มายังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 65 แล้ว
ดังนั้น กสทช.ชุดปัจจุบันไม่ควรจะไปพิจารณาเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศเยี่ยงนี้ แต่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาโม่แป้งเอง แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลก ทั้งนายกฯและประธาน กสทช.ชุดรักษาการจนรากงอก ยังคงไฟเขียวให้ กสทช.ชุดนี้ที่ถือได้ว่าพ้นหน้าที่กันไปหมดแล้ว ยังคงออยู่โยงทำการพิจารณาการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์นี้ เสมือนเป็นการเร่งปิดดีลให้ได้ก่อนเปลี่ยนผ่านอำนาจไปให้ กสทช.ชุดใหม่ยังไงยังงั้น
“สิ่งเหล่านี้มันทำให้คิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากมีไอ้โม่ง- Invisible Hand ชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อกระเตงซูเปอร์ดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้ไปสู่เป้าหมายให้ได้ก่อน กสทช.ชุดใหม่จะเข้ามารับไม้ต่อ และปาดหน้ากรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการสื่อสารโทรคมนาคมฯ สภาผู้แทนฯ ที่กำลังเร่งเครื่องตรวจสอบเรื่องนี้กันอยู่ และหากท้ายที่สุดดีลควบรวมทรู-ดีแทค ในครั้งนี้ผ่านฉลุยภายใต้บทบาทการทำหน้าที่ของ กสทช.ชุดนี้
โดยที่ กสทช.ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ด้วยข้ออ้าง ไม่มีอำนาจสั่งระงับยับยั้งได้แล้ว สังคมยังจะคาดหวังอะไรเอากับการทำหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเสรีขององค์กร กสทช.ได้อีก ตรงกันข้ามน่าจะเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่า องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า( กขค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)นั้นมีก็เหมือนไม่มีเสียมากกว่า