พล.อ.ท.ดร ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ทั้ง 5 คนเป็นคนเสนอตัวเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้เอง ดังนั้น แม้ขณะนี้การทำงานของกสทช.กำลังเป็นที่จับตาของจากสังคมและจากหลายภาคส่วน เพราะกสทช.ได้รับการสรรหามาตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น การทำงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่
สำหรับแนวทางการทำงานของ กสทช.ในยุคที่ดิจิทัลดิสรัปชั่นแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกๆอย่าง ดังนั้น จึงต้องพยายามปรับขอบเขตการทำงานให้เป็นไปตามบริบทที่เปลี่ยนไปจากการ "กำกับดูแล" เราต้องหันมา "ส่งเสริม" อุตสาหกรรม เพื่อทำให้การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต้องมองไปที่ลาสไมล์ที่เข้าถึงประชาช เมื่อมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีแล้ว มีอินเตอร์เน็ตใช้แล้ว ต้องเข้าถึงบริการที่ดีราคาที่เหมาะสมด้วย ที่ผ่านมา กสทช.ก็ทำงานคู่ขนานไปกับภาครัฐที่มีบริการเน็ตประชารัฐเพื่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ในส่วนของสำนักงาน กสทช.เองก็มีโครงการยูโซ่เพื่อบริการในพื้นที่ห่างไกลด้วย
"ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานของกสทช.ในช่วงที่ผ่านมา ก็มุ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เข้าถึงประชาชนทั้งผ่านอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่านมาจนถึงวันนี้แล้วมีการประมูลตั้งแต่ 3จี 4จี มาถึง 5จี สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้คือเพิ่มการเข้าถึงไปยังประชาชนในทุกๆพื้นที่ ให้ได้รับบริการที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้"
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวอีกว่า การทำงานหลังจากที่ได้รับตำแหน่งมานั้น บอร์ดกสทช.มีการสั่งให้สำนักงาน กสทช.ไปรวบรวมประกาศฯ กสทช.ให้เป็นหมวดหมู่เพื่อจะทำให้การทำงานต่อจากนี้ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องวางแผนการเปลี่ยนผ่านในส่วนที่เป็นกิจการวิทยุและกิจการดาวเทียมให้เข้าสู่การเปลี่ยผ่านเป็นดิจิทัลให้ได้โดยเร็ว เพราะอย่างกิจการวิทยุนั้น มีมาตั้งแต่ 80 ปีที่แล้ว เปลี่ยนจาก AM มาเป็น FM แต่ก็ยังไม่เข้าสู่บริการดิจิทัลเท่าที่ควรจะเป็นดังนั้น กิจการวิทยุจึงควรต้องปรับตัวมากขึ้น เพื่อไม่ให้ล้มหายไปจากอุตสาหกรรมเหมือนอย่างโทรเลข
นอกจากนี้ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ยังกล่าวอีก ยังมีเรื่องการส่งเสริมเปิดเสรีวงโคจรดาวเทียม โดยที่มีผ่านมาแม้ว่าได้เคยไปยังบอร์ดกสทช.ชุดที่ผ่านมาแล้วแต่ด้วยที่ในครั้งนั้นมีเอกชนเพียงรายเดียวเข้าร่วมกันประมูล จึงทำให้บอร์ดมาทบทวนและคิดว่าควรชะลอออกไป ดังนั้น มาในครั้งนี้บอร์ดก็ได้สั่งให้สำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการปรับปรุงการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความน่าสนใจที่จะมีเอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมในการประมูลวงโคจรดาวเทียมหากมีการจัดสรรในอนาคต
เขา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เดิมนั้น จะถือเป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาตและเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบการอนุญาต โดยสัมปทานดาวเทียมไทยคมถือเป็นสัมปทานด้านการสื่อสารสุดท้ายของประเทศไทยที่จะสิ้นสุด ส่งผลให้กิจการดาวเทียมไทยมีการเดินหน้าต่อยอดต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับบริการจากเทคโนโลยีใหม่ของดาวเทียมที่มีความก้าวกระโดดทั้งในส่วนของดาวเทียม Broadcast และ Broadband ต่อไป